5 เขต กทม.ติดเดลตาเกือบหมด ศูนย์พักคอยตั้งแล้ว 5 พันเตียง เล็งเปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนต่างชาติ ศบค.ย้ำจะไม่ให้มีใครตายที่บ้านอีก

วันที่ 21 ก.ค.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า กรมการแพทย์รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม. ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่กว่าหมื่นราย ระดับอาการส่วนใหญ่ยังเป็นสีเขียวหรือเขียวเข้ม คือไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เพราะอายุน้อยเป็นวัยแรงงาน รวมกันเกือบ 80% ส่วนกลุ่มสีเหลืองและสีแดงตัวเลขเริ่มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นย้ำเสมอว่า เราพยายามสงวนเตียงในระดับ รพ.หรือไอซียูสนาม เพื่อรับสีเหลือง-สีแดง

ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงาน พบการระบาดสายพันธุ์เดลต้าเกิน 50% ในหลายจุด โดย 5 เขตใน กทม.ที่เป็นเดลต้าเป็นหลัก ได้แก่ จตุจักร บางรัก จอมทอง คลองเตย และหลักสี่ ทำให้ กทม.พยายามมุ่งเป้าจัดทีมแก้ไขเชิงรุกในชุมชน CCR Team ค้นหาผู้ป่วยในชุมชน และรับการรักษาอย่างเร็วที่สุด

ทั้งนี้ CCR Team 1 ทำงานตั้งแต่วันที่ 5-20 ก.ค. ลงพื้นที่ 139 ชุมชน เดินเท้าเคาะประตูบ้าน มีผู้รับบริการ 4,583 คน จำนวนนี้ พบว่าตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit วันที่ 20 ก.ค. จำนวน 383 คน พบผลติดเชื้อ 37 คน นำเข้าสู่ระบบแยกกักที่บ้าน 31 คน เข้าสู่แยกกักในชุมชน 3 คน และมีอาการสีเหลืองส่งต่อ รพ.อีก 3 คน สอบสวนโรคคนใกล้ชิดอีก 134 ราย แม้ผลเป็นลบแต่เสี่ยงสูง จึงให้แยกกักตัวที่บ้าน

เพราะจากข้อมูล กทม.พบว่าผู้เสี่ยงสูงมีโอกาสกลายเป็นผู้ติดเชื้อถึง 11% ถือว่าช่วยให้การตรวจครอบคลุม เข้าถึงชุมชนถึงบ้าน ตรวจค้นเจอติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย แยกออกจากชุมชนให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังฉีดวัคซีนให้ด้วย มีการฉีดแล้ว 4,070 คน เป็นผู้สูงอายุ 2,420 ราย โรคประจำตัว 1,640 ราย และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เกิน 10 ราย

“ผอ.ศบค.ติดตามข้อมูลและเน้นย้ำว่าจะไม่ให้มีคนเสียชีวิตที่บ้านจากโควิด จะนำเข้าระบบเร็วที่สุด ตรวจด้วยชุดตรวจให้ครอบคลุมมากที่สุด ขยายจุดตรวจให้ครอบคลุม ทั้ง รพ.รัฐ รพ.เอกชน จุดตรวจ กทม. รถตรวจพระราชทาน คลินิกเอกชน จุดตรวจประกันสังคม ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 จุด และดูแลเรื่องของการจัดการแยกกักที่บ้าน” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เตียงโควิดที่เปิดตอนนี้เป็นส่วนขยาย เตียงจริงๆ เต็มไปแล้ว การตอบโจทย์อยู่ที่การแยกกักที่บ้านและชุมชน ซึ่งศูนย์พักคอยในชุมชน กทม.นั้น ผอ.ศบค.มีนโยบายให้จัดขึ้นอย่างน้อย 50 เขตๆ ละ 1 แห่ง ซึ่งหากเปิดได้ 100 เตียง ก็จะรองรับได้ 5 พันเตียง หากเป็น 200 เตียง ก็จะได้ 1 หมื่นเตียง หรือหากได้เขตละ 2 ศูนย์ ศูนย์ละ 100 เตียง ก็จะได้ 1 หมื่ยเตียงเช่นกัน ยิ่งเป็น 200 เตียง ก็จะได้ 2 หมื่นเตียง เพื่อรองรับอาการเขียวที่มีสัดส่วน 80% ของการติดเชื้อ โดยวันนี้ กทม.รายงานจัดตั้งศูนย์พักคอยแล้ว 49 แห่งใน 47 เขต เปิดดำเนินการรับแล้ว 19 แห่ง รองรับได้ 5,365 เตียง

ส่วนของศูนย์แรกรับนิมิบุตรรับเตียงสีเหลืองด้วยและส่งต่อให้ปลอดภัย และยังคัดแยกระดับอาการได้ด้วย ซึ่งประชาชนตรวจด้วยชุดตรวจมากขึ้น ผลบวกจะไปไหน ส่วนหนึ่งที่ไหนตรวจชุดตรวจก็จะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว ซึ่งมีการหารือว่าอาจจะเพิ่มศูนย์คล้ายนิมิบุตร รอส่งต่อแรกรับผู้ป่วยเข้ามาก่อน คัดแยกสีเหลืองสีแดง ไปดูแลรพ.โดยเร็วที่สุด ถ้าเขียวอ่อนหรือเข้ม ก็จัดหาให้อยู่ในศูนย์พักคอยหรืออยู่ในเกณฑ์แยกที่บ้านได้ก็สามารถให้คำแนะนำเข้าดูแลแยกกักที่บ้าน

สำหรับการให้วัคซีน กรมควบคุมโรคมีข้อสรุปว่าเพิ่มหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพิ่มจาก 7 โรคเรื้อรังเป็นกลุ่มที่ 8 ดังนั้น หญิงที่จะเข้ารับฉีดวัคซีนประวัติไม่แน่ใจตั้งครรภ์ ให้ตรวจครรภ์ก่อนฉีดวัคซีน ส่วนต่างชาติในแผ่นดินไทยหรือคู่สมรสคนไทย ทำอาชีพในประเทศไทย ทำงานในส่วนบริษัท มีถิ่นพำนักในไทย ลำดับถัดไปมีโอกาสลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน เบื้องต้นเป็นที่เอสซีจี ให้ติดตามรายละเอียด ส่วนนักเรียนไทยกำหนดกลับไปศึกษาต่อมีการหารือกัน ถ้ามีข้อสรุปจะนำเสนอต่อไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน