รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชี้แจงกรณี ประกาศโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เรื่องหลักการพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ปรับแก้ หลักเกณฑ์ชี้ผู้ป่วยยังได้รับรักษาในระบบการดูแลแบบประคับประคอง

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แถลงข่าวกรณีการออกประกาศของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เรื่องหลักการพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ (Withholding Intubation) สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ว่า ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศภายในของ รพ. มีการใช้คำว่า “หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 19” แต่ไม่ได้ใส่เนื้อหารายละเอียดลงไป ทำให้เมื่อมีประกาศดังกล่าวออกไปภายนอกจึงทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความไม่สบายใจในวงกว้าง เนื่องจากไม่ได้ทราบบริบทในการดูแลรักษาพยาบาลจึงเกิดความไม่เข้าใจ

ทางโรงพยาบาลต้องขอน้อมรับและปรับปรุง โดยการประชุมคณะกรรมการโรงพยาบาลช่วงเช้าที่ผ่านมา (23 ก.ค.) ได้ปรับปรุงแก้ไขประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาจัดผู้ป่วยวิกฤตโควิดให้ได้เข้ารับการรักษาในระบบการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยกรณีผู้ป่วยแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าโดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร (Living will) ว่าไม่ประสงค์ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือครอบครัวตัดสินใจร่วมกับผู้ตัดสินใจแทน แล้วมีข้อสรุปว่าไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ

ส่วนกรณีผู้ป่วยไม่แสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า แต่แพทย์ผู้ดูแลพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเข้าหลักเกณฑ์การรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่โรงพยาบาลใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศที่ใช้สำหรับโรคต่างๆ แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย การดูแลแบบประคับประคองจะมีหลักเกณฑ์ทางการแพทย์รองรับชัดเจน

เช่น อายุ มากกว่า 75 ปี มีโรคประจำตัวที่ถึงเกณฑ์การดูแลแบบประคับประคอง เช่น โรคหัวใจ ปอด มะเร็ง ทั้งเป็นการตัดสินใจร่วมกันของผู้ป่วย ญาติ แพทย์ผู้รักษา ทำให้ผู้ป่วยค่อยๆ นอนหลับไป ไม่ได้เป็นการเร่งหรือยื้อการเสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีตามธรรมชาติ

นพ.พฤหัส อธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องการดูแลแบบประคับประคองมีอยู่ในใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ที่กำหนดไว้สำหรับโรคต่างๆ อยู่แล้ว โดยจะมีการทำหนังสือ หรือวาจาว่าไม่ขอรับการรักษาด้วยวิธีใส่ท่อช่วยหายใจ หรือวิธีอื่นใด

ทั้งนี้ เมื่อถึงการระบาดของโควิด 19 ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากจนล้นโรงพยาบาล เตียงไอซียูไม่เพียงพอที่จะรักษา ปัจจุบันเรามีการขยายเตียงไอซียู 16 เตียง แต่ก็ยังมีจำนวนผู้ป่วยต้องการไอซียูจำนวนมาก การขยายเตียงเพิ่มทำได้ยาก เนื่องจากบุคลากรมีจำกัด

แต่เมื่อคนไข้มาแล้วถ้าเรารักษาไม่ได้ มันก็เป็นความเจ็บปวดของโรงพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ ซึ่งไม่ใช่แค่ รพ.ธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลต่างจังหวัดก็จะมีภาพที่ผู้ป่วยนอนหน้าห้องไอซียู หน้าโรงพยาบาล การแก้ไขตรงนี้ทำได้ยากเพราะถ้ายังมีคนไข้นอนไอซียูอยู่ ก็ไม่สามารถเอาคนไข้ใหม่เข้าไปได้ การจะใส่ท่อช่วยหายใจโดยไม่ได้ทำในห้องไอซียูก็เป็นเรื่องยากและอันตราย แต่เราสามารถแก้ไขสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวาระสุดท้ายของชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีศักดิ์ศรี ให้ได้รับการดูแลบางอย่างจากทางโรงพยาบาลได้

“บริบทการดูแลผู้ป่วยโดยไม่ใช้ท่อช่วยหายใจ ซึ่งเราจะมีวิธีการทางการแพทย์ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกทุกข์ทรมาน ไม่ให้มีความวิตกกังวล ไม่ให้มีภาพอันไม่น่าดู ก็เหมือนกับผู้ป่วยค่อยๆ นอนหลับสงบโดยที่เราไม่ได้เร่งหรือยื้อการเสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีตามธรรมชาติ นี่คือหลักการโดยเนื้อแท้ของการรักษาแบบประคับประคอง

เพราะฉะนั้นถ้าดูบริบทภาพรวมทุกอย่างที่เกิดขึ้น ก็จะเข้าใจตามที่โรงพยาบาลออกประกาศ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน ทั้งในส่วนของกรรมการต่างๆ การตัดสินใจของผู้ป่วยและญาติในการดำเนินการที่จะไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ” นพ.พฤหัส กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน