คณบดีศิริราชชี้ ‘เดลตา’ พลิกโลก ฉีดวัคซีนครบก็ติดได้ ห่วงไทยยังไม่ถึงจุดพีก ย้ำต้องเร่งลดติดเชื้อก่อนเจอสายพันธุ์ใหม่ ตรวจแยกผู้ติดเชื้อให้เร็ว ดูแลรักษาที่บ้าน ให้ยาเร็ว

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลกจากสายพันธุ์เดลตาและการฉีดวัคซีน ผ่านระบบออนไลน์ ว่า สหประชาชาติระบุว่าสายพันธุ์เดลตาแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ โดยวันที่ 2 ก.ค. พบกระจาย 98 ประเทศทั่วโลก แต่วันที่ 30 ก.ค. เพียง 28 วัน กระจาย 132 ประเทศ ใน 1 สัปดาห์มีคนติดเชื้อนี้เกือบ 4 ล้านคน บางพื้นที่ในโลกเพียง 1 เดือน คนติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 80% ขณะที่ข้อมูลในเวิลโดมิเตอร์ถึงวันที่ 8 ส.ค. 2564 พบว่าจากการระบาดที่ลดลงก็เริ่มกลับขึ้นมาใหม่ ตอนนี้อยู่ที่ 5-7 แสนคนต่อวัน ใกล้เคียงช่วงที่มีวัคซีนใหม่ๆ แต่อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 7 พัน -1 หมื่นคนต่อวัน ยังเพิ่มขึ้นไม่เยอะเท่า เพราะมีวัคซีน ซึ่งคนฉีดแล้วลดอัตราเสียชีวิต ขณะนี้ถึงวันที่ 8 ส.ค. ฉีดแล้ว 4,400 กว่าล้านโดส ฉีดวันละประมาณ 42 ล้านโดส

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในแต่ละประเทศ คือ 1.สหรัฐอเมริกา หลังฉีดวัคซีนสถานการณ์เริ่มดีขึ้น แต่ตอนนี้กลับขึ้นมาอีก มีการพบสายพันธุ์เดลตาในทุกรัฐและเพิ่มขึ้นรวดเร็ว โดยต้น มิ.ย. พบเดลตา 8-14% แต่เพียงเดือนเดียวพบเดลตาขึ้น 80-87% ตัวเลขติดเชื้อถึงหลักแสนต่อวัน แต่เสียชีวิตไม่เยอะคือไม่ถึง 500 รายต่อวัน ต่างจากช่วงก่อนฉีดวัคซีนที่ตาย 2-3 พันคนต่อวัน เป็นผลจากการฉีดวัคซีนไป 350 กว่าล้านโดส เป็นเข็มแรก 58% ครบ 2 เข็ม 50% ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ประกาศให้ประชาชนกลับมาใส่หน้ากากแม้ฉีดวัคซีนครบแล้ว หลังจากที่ 11 สัปดาห์ก่อนประกาศว่าฉีดครบไม่ต้องใส่หน้ากาก ถือเป็นบทเรียนหนึ่ง รวมถึงประกาศให้ร้านค้า สถานประกอบการ หากใครเข้าใช้บริการให้ใส่หน้ากากด้วย และรัฐบาลกลางกำลังเร่งชวนฉีดวัคซีน เพราะมีคนจำนวนมากยังไม่ฉีด เดือนที่แล้วฉีด 1 เข็มแจกแฮมเบอร์เกอร์ เดือนนี้บางรัฐแจกเงิน 100 เหรียญ รวมถึงออกมาตรการบังคับบุคลากรหน่วยงานรัฐต้องรับการฉีดวัคซีน

“ข่าวจากวอยซ์ออฟอเมริกานิวส์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. รายงานว่า ซีดีซีย้ำว่าคนฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้วก็แพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นได้ ใกล้เคียงกับคนที่ยังไม่ฉีด ซึ่งคนฉีดครบคงคิดว่าป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่ป้องกันไม่ติดอย่างเดียว แต่อาจกระจายให้คนอื่นด้วย” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

2.อังกฤษ หลังฉีดวัคซีนอัตราติดเชื้อลดลง แต่เริ่มติดเชื้อกลับขึ้นมาใหม่ เป็นสายพันธุ์เดลตา 90% แทนที่อัลฟาแล้ว จากเดิมติดเชื้อเหลือ 2 หลัก ขึ้นมา 3-5 หมื่นรายต่อวัน อัตราเสียชีวิตยังต่ำ ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศวันอิสรภาพวันที่ 19 ก.ค. ว่า อังกฤษฉีดวัคซีนเยอะแล้ว เข็ม 1 ถึง 70% ครบ 2 โดส 60% ถึงเวลาเลิกใส่หน้ากาก มีชีวิตเหมือนก่อน ผับต่างๆ เปิด แต่คนอังกฤษไม่น้อยโดยเฉพาะผู้สูงอายุคุ้นเคยการใส่หน้ากาก ซึ่งการที่บางคนใส่ เชื่อว่ามีส่วนช่วยลดการติดเชื้อ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์อังกฤษออกมาลงนามร่วมกันเสนอนายกฯ ท้วงติงระวังเรื่องฟรีดอมเดย์ เพราะกลัวการระบาดในคนไม่ใส่หน้ากาก ไม่เว้นระยะห่าง จะเกิดแพร่ระบาดใหม่ และกลัวกัน คือ vaccine resistant varient จากเชื้อกลายพันธุ์ หรือเรียกว่าไวรัสหลุดไปจากระบบภูมิคุ้มกันที่วัคซีนไปกระตุ้น

3.ฝรั่งเศส ระดมฉีด 77 ล้านโดส ฉีดวันละกว่า 5 แสนโดส เกือบ 70% ฉีดเข็ม 1 แล้ว ฉีดครบ 2 เข็ม 60% เจอการแพร่ระบาดสูงขึ้นจากเดลตาขึ้นมาเป็นหลักหมื่นราย ไม่มีท่าทีลง แต่อัตราเสียชีวิตยังเป็นสองหลัก ฝรั่งเศสประกาศตัวเองเข้าสู่การระบาดรอบที่ 4 ของเดลตา ให้ประชาชนใช้สถานบริการต่างๆ ต้องมี Healtj Pass 1 ใน 3 อย่าง คือ รับวัคซีน 2 โดสครบ หรือช่วงเวลาใกล้ๆ ตรวจแล้วไม่พบโควิด และมีหลักฐานว่าเพิ่งหาย และออกมาตรการปรับหากไม่ทำตามมาตรการ เดิมจะปรับ 4.5 หมื่นยูโร แต่มีการทักท้วงจึงเริ่มต้นปรับ 1.5 พันยูโร

4.อิตาลี ฉีดวัคซีน 71 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 65.2% เข็มสอง 56.7% ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 6-7 พันคนต่อวัน แต่การเสียชีวิตตายต่ำ คือ 2 หลัก เนื่องจากสายพันธุ์เดลตา โดยวันที่ 22 มิ.ย. พบเดลตา 22.7% แต่เดือนเดียว วันที่ 20 ก.ค. พบเดลตาแพร่กระจายในอิตาลี 94.8% รัฐบาลออกมาตรการต้องมี Health Certificate คล้ายกับ health pass ของฝรั่งเศสในการเข้าใช้บริการ การเดินทางไปมาระหว่างประเทศ

5.อิสราเอล ฉีดวัคซีน 11.5 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 64.1% และเข็มสอง 59.6% ปลายเดือนที่แล้วประกาศยุติการใส่หน้ากาก กลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่หลังเปลี่ยนรัฐบาลพบมีการติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลใหม่ประกาศหากติดเชื้อถึง 3 หลักจะกลับมาใส่หน้ากาก ซึ่งก็พบการติดเชื้อไต่จาก 2 หลักเป็น 3 หลัก โดย 10 วันล่าสุดติดเชื้อหลักพันและยังขึ้นไปไม่หยุด แต่อัตราเสียชีวิตต่ำมาก ผอ.กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าอาจต้องล็อกดาวน์อีก เพื่อไม่ให้คนไข้เยอะไปกระทบระบบการดูแลสุขภาพล่ม โดยหากล็อกดาวน์ต้องตัดสินใจเร็วใน ก.ย. เพราะมี Jewish Holliday คือมีวันหยุดเยอะ รีเซตเมืองได้ง่ายกว่า ต.ค.ที่จะกระทบเศรษฐกิจ

6.ออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้การติดเชื้อลงหลายเดือน จนเกิดขึ้นมาอีก เกิดจากคนซิดนีย์ 2 คนเจอเดลตา และกระจายไปเกือบทั่วประเทศในเวลาไม่นาน พบติดเชื้อใหม่ 3 หลัก อัตราเสียชีวิตต่ำ การฉีดวัคซีนยังไม่เยอะ 13.4 ล้านโดส โดย 1 ใน 3 ฉีดเข็มแรก ครึ่งหนึ่งนี้ฉีดครบ 2 เข็ม ซึ่งออสเตรเลียสบายๆ มาตลอด เดิมไม่ได้ขวนขวายหาวัคซีนมาฉีด พอเกิดเหตุขึ้นก็ต้องหามาฉีด แต่รัฐบาลตัดสินใจเร็ว ใช้ความเข้มในการจัดการ มีการควบคุมตามมลรัฐพื้นที่ต่างๆ บางพื้นที่ก็ล็อกดาวน์ ควบคุมการเข้าออกไม่ให้เดินทางระหว่างเมือง มีการพบเด็กติดเชื้อมากขึ้นแต่ไม่รุนแรง และมีการรายงานว่าสายพันธุ์เดลตาไม่ใช่แพร่เร็วอย่างเดียว อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นด้วย และ 7.รัสเซีย มีการเร่งฉีดมากช่วง 2-3 สัปดาห์ ฉีดวันละเป็นล้านโดส แต่ตอนนี้้ช้าลง ซึ่งเริ่มดึงกราฟติดเชื้อลง ติดเชื้อวันละ 2-3 หมื่นราย เสียชีวิต 3 หลัก รัสเซียฉีดเข็มแรก 25.9%

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ข้อสรุปประสบการณ์ประเทศต่างๆ เกี่ยวกับเดลตา คือ 1.เชื้อเดลตาแพร่ระบาดเร็วกว่าอัลฟา 60% มีหลักฐานชัดเจนก่อให้เกิดอาการรุนแรงและอันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดิม โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงย้ำว่าอย่ากลัววัคซีน เพราะช่วยป้องกันเราจากอาการรุนแรงและเสียชีวิต 2.ผู้มีอาการรุนแรงพบในกลุ่มคนอายุน้อยลง ออสเตรเลียพบติดเชื้อในเด็ก 25% อาจเกิดจากหลายปัจจัย บางประเทศวิเคราะห์ว่าเพราะผู้สูงอายุฉีดวัคซีนแล้ว จึงเจอในคนอายุน้อยลง และธรรมชาติไวรัสอาจก่อความรุนแรง ประเทศไทยก็เจอคนอายุน้อยลง แต่คนอายุน้อยมีปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะโรคอ้วน ทำให้มีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง

3.คนรับวัคซีนครบยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ รายงานจาก ม.วิสคอนซิล คนฉีดครบแล้วในอเมริกา ตรวจปริมาณไวรัสในจมูกและคอไม่แตกต่างไปจากผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เป็นการศึกษาที่ยังไม่ตีพิมพ์ แปลว่าคนเหล่านี้มีโอกาสแพร่ให้คนอื่นไม่แตกต่างกันเลยกับคนไม่รับวัคซีน แต่ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง 4.ระบบการฉีดวัคซีนมีการพูดถึงฉีดในเด็ก เพราะเด็กติดเชื้อเยอะ ไม่มีทางเกิดภูมิคุ้มกันหมู่พอที่จะจัดการไวรัสตัวนี้ ตอนนี้เริ่มมีการผลิตวัคซีนที่ปลอดภัยในเด็กเล็ก หลายประเทศมีแนวทางฉีดไปจนถึงอายุ 12 ปี 5.สัดส่วนประชากรรับวัคซีนมากพอมีส่วนสำคัญลดแพร่ระบาดและเสียชีวิต แต่ไม่ควรเป็นข้อบ่งชี้ยกเลิกหรือผ่อนคลายตนเอง 2-3 ประเทศพอผ่อนคลายก็ต้องกลับมาใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง

6.การแพร่ระบาดในคนจำนวนมาก เช่น วันหนึ่งหลายหมื่น อาจพบสายพันธุ์ใหม่ในประเทศนั้น เพราะติดต่อผ่านคนไปเรื่อยๆ มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ง่าย หากกลายพันธุ์ใหม่และแพร่เร็วกว่าเดิมจะแทนสายพันธุ์เดิม ซึ่งศึกโควิดเราไม่รู้ปลายทางอยู่ตรงไหน หวังว่าเทคโนโลยีเราจะชนะกับความสามารถไวรัสที่กลายพันธุ์ แต่ประชาคมโลกต้องช่วยกัน ตราบใดปล่อยให้แพร่ระบาดเยอะๆ มีโอกาสกลายพันธุ์ใหม่ได้เรื่อยๆ ความปลอดภัยในประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดไม่ได้ หากสถานการณ์โลกยังเกิดมากมาย ประเทศฉันปลอดภัยแต่ประเทศอื่นยังติดเยอะ ยืนยันว่าไม่เกิด เพราะการเดินทางระหว่างประเทศง่ายมาก ของ 1 ชิ้นส่งจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งมีโอกาสนำไวรัสเข้าไปด้วย และมีโอกาสเข้ามาโดยไม่รู้ตัว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ประเทศไทย เราฉีด 20 กว่าล้านโดส โดย 22% ฉีดแล้ว 1 เข็ม ครบ 2 โดสประมาณ 6.1% จึงต้องเร่งฉีด แนวทางจัดการโควิดเดลตา เราต้องรีบลดความเสียหายจากการเกินศักยภาพระบบบริการสุขภาพ ตอนนี้ รพ.เบ่งเตียงมากขึ้น ศิริราชกำลังเพิ่มเตียงไอซียูอีก นี่คือปลายทางที่ต้องทำ แต่ดีที่สุดคือต้นทางลดคนติดเชื้อลงให้ได้ ต้องอาศัยการตรวจหาผู้ติดเชื้อ บริหารจัดการเตียงสถานพยาบาล เราจึงลงมาทำเรื่องรักษาที่บ้าน เข้มมาตรการส่วนบุคคล มาตรการสังคม รักษาระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก ทำคู่กันไป ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดการติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง การเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อและเสี่ยงแพร่เชื้อ ซึ่งมีการนำ ATK เข้ามาตรวจแล้ว ยี่ห้อต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนมีความแม่นยำเกิน 90%

“การตรวจจะค้นหาคนมีแนวโน้มติดเชื้อ และเข้ากระบวนการไม่ให้แพร่เชื่อและรักษาให้เร็ว ซึ่งมีนโยบายออกมา คนกลุ่มอาการไม่เยอะไม่มีอาการ แต่เสี่ยงที่รุนแรงจะมีการให้ยา แต่ต้องลงทะเบียนเข้าระบบเพื่อติดตามอาการได้ ต้องเพิ่มศักภาพการทำรักษาที่บ้านและชุมชน จากที่พูดคุยผู้ป่วยหลายคน คนไม่น้อยอยากอยู่ที่บ้าน เพราะไม่ต้องไปนอนสถานที่ไม่คุ้นเคย แต่ต้องรู้มาตรการอยู่บ้านอย่างไรจะปลอดภัยไม่แพร่เชื้อไม่ติดเชื้อ มีกระบวนการจัดยาไปให้ รับประทานตามกำหนด มีการติดต่อสอบถามอาการ หากมีข้อบ่งชี้จะรุนแรงมากขึ้นเอาเข้ามาระบบสุขภาพ” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวและว่า เราต้องประสาน 3 เรื่อง คือ มาตรการสังคม มาตรการปกครอง และเร่งวัคซีน หากเกิน 50% มีแนวโน้มทำให้กราฟตกลงมา

เมื่อถามว่ากราฟการระบาดของไทยจะลดได้เมื่อไร ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า บางพื้นที่ยังไม่ทำตามมาตรการ เช่น พบปะ การจัดกิจกรรมในโรงเรียน หรืออื่นๆ ซึ่งเมื่อเกิดคลัสเตอร์ใหม่ และระบบจัดการไม่ดีจะยุ่ง หากทุกคนกระชับได้จริง เชื่อว่าเดือน ก.ย. – ต.ค. คู่ขนานกับการฉีดวัคซีน ถ้าได้ตามเป้าหมายทะลุ 25% ภายในส.ค.ก็น่าจะได้ และจะไต่ยอดไปเรื่อยๆ ดังนั้น ช่วง ก.ย. – ต.ค. น่าจะเห็นจุดที่วัคซีนมากพอ คู่ขนานกับมาตรการต่างๆ ก็จะเห็นตัวเลขลดลง แต่ต้องไม่มีสิ่งใดๆ เข้ามาก่อให้เกิดการแพร่กระจายมากขึ้น

“ถ้าตัวเลขการระบาดลดได้จริง และปลายปีมีไฟเซอร์ 20 ล้านโดสเข้ามาในไทย ผมเชื่อว่าเราจะยื้อไปจนถึงมีวัคซีนรุ่น 2 ในปีหน้าได้ ซึ่งจะเชื่อมโยงได้ทัน แต่หากมีอะไรมากระทบอีก ก็ไม่อยากนึกว่า จำนวนจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงจุดพีค เพราะตัวเลขของกราฟ ไม่ว่าใน กทม. หรือต่างจังหวัด ยังขึ้นอยู่ เพียงแต่บางพื้นที่ขึ้นด้วยความชันน้อยลง แต่ยังไม่วิ่งลง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า เราต้องดูสถานการณ์ทั่วโลกคู่ขนาน ไม่เช่นนั้นเราจัดการไม่ได้ หากทั่วโลกยังร้อน ทั้งวัคซีน ทั้งยาต้องแย่งกัน ยิ่งตอนนี้สิ่งที่หลุดไปจากความคาดการณ์เดิม คือ สายพันธุ์เดลตา ไม่อยากเรียกว่า ไวรัสล้างโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก หลายประเทศย้อนกลับมาคุมใหม่หมด อย่างสหรัฐฯ หรืออิสราเอล หากเราไม่ช่วยกัน หากแต่ละประเทศแพร่ระบาดมากๆ และโชคร้ายมีสายพันธุ์ใหม่อีกจะยิ่งเดือดร้อน ตอนนี้ต้องเร่งหยุดการแพร่กระจายให้เร็วที่สุด

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงความเพียงพอของวัคซีน ว่า ในเรื่องของวัคซีนนั้น ช่วงเวลานี้ไปจนถึงปลายปียังมีการแย่งวัคซีนในแต่ละประเทศ ซึ่งวัคซีนไม่เพียงพอ อย่างการผลิตให้มากๆไม่สามารถทำได้ทัน ขณะเดียวกันยังถูกซ้ำเติมด้วยสายพันธุ์ที่กระจายเร็ว ซึ่งวัคซีนรุ่นแรกๆ อาจคุมได้แต่ประสิทธิภาพลดลง สุดท้ายพูดถึงเข็ม 3 ขณะที่วัคซีนไม่พอก็เป็นประเด็น จึงเป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำเข็ม 3 เพราะอยากให้ทั่วโลกได้รับวัคซีนให้เยอะพอ แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริบท ความจำเป็นของของแต่ละประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน