ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เผยข้อมูล หญิงท้องติดโควิด เสี่ยงตายมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่าครึ่ง ยันทางป้องกันคือต้องรับวัคซีน

13 ส.ค. 2564 – พล.อ.ท.นพ.การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าวการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในสถานการณ์โควิด-19 ว่า ปีที่แล้วแทบไม่มีปัญหาหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด มาเริ่มพบปีนี้ โดยเฉพาะหลังสงกรานต์ตัวเลขสูงมาก ทำให้มีข้อมูลวิชาการมากขึ้น

จากข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด 1,993 ราย คลอดแล้ว 1,129 ราย คิดเป็น 55% มีการฉีดวัคซีนน้อย ทำให้พบทารกติดเชื้อจากแม่ 113 คน คิดเป็น 11.8% สูงกว่าต่างประเทศมาก ส่วนหนึ่งเพราะข้อมูลที่ได้จากต่างประเทศ มาจากประเทศที่ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ทำให้อัตราตายต่ำ

ที่ห่วงคือแม่ตาย 37 ราย คิดเป็น 1.85% เทียบกับคนทั่วไป คือ 0.83% ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโควิดถ้าเกิดปัญหาจะตายมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่าครึ่ง ครึ่งหนึ่งคือ 16 รายตายก่อนคลอด ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก บางคนเสียไปพร้อมลูกหรือตายทั้งกลม ขณะที่ทารกคลอดแล้วตายเลย ไม่หายใจ 11 ราย คิดเป็น 1% ตายภายใน 7 วันหลังคลอด 9 ราย คิดเป็น 0.8% รวมทารกตาย 20 ราย คิดเป็น 1.8%

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการป้องกันดีที่สุดคือการรับวัคซีน ซึ่งไม่ต้องเลือกตัวไหน ให้รีบฉีดให้ได้ภูมิขั้นแรกจากเข็มแรกก่อน เมื่อตามด้วยเข็มสองร่างกายจะสร้างภูมิอย่างรวดเร็วเข้มข้นขึ้นถึงระดับป้องกันได้ และภูมิต้านทานจากวัคซีนจะถึงลูกทำให้ลูกไม่เป็นด้วย ขณะนี้มีรายงานจากต่างประเทศแล้วว่าการฉีดแบบมิกซ์แอนด์แมชต์ได้ผลภูมิคุ้มกันสูง ไม่ว่าจะฉีดเข็มแรกตัวไหนก็ตามแล้วรับเข็มสองเป็นวัคซีนต่างชนิดกัน

พล.อ.ท.นพ.การุณ กล่าวต่อว่า โรคโควิดเป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดชำรุดเสียหาย ดังนั้น จึงเกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวข้องถึงลูกโดยตรงได้มาก ตรงนี้ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เลือดออกง่ายกว่าปกติ รวมถึงภาวะหลอดเลือดอุดตันที่ปอดมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิต รวมถึงรกลอกก่อนกำหนด เพราะปกติทารกต้องคลอดก่อนและรกค่อยลอกตามออกมา แต่ก็พบรกลอกตัวในท้อง จึงอยากให้ทราบว่าภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์จึงสูงมาก จึงเป็นสาเหตุของการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อยกว่ากำหนด รวมถึงทำให้แม่ตายได้ง่ายกว่าปกติ

“ส่วนทำไมคนท้องเสียชีวิตได้เยอะ เพราะสรีระร่างกาย เมื่อท้องใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ 280 วัน หรือ 40 สัปดาห์ น้ำคร่ำในมดลูกมีมากสุดในช่วง 32 สัปดาห์หรือ 8 เดือน น้ำคร่ำในมดลูกประมาณ 1-1.3 ลิตร จะดันมดลูกขึ้นทำปอดขยายตัวลำบาก ในช่วง 8 เดือนขึ้นไปจะเกิดภาวะปอดแฟบตามธรรมชาติในคนท้องง่ายกว่าปกติ ทำให้เกิดปัญหาหายใจล้มเหลวจะเกิดในช่วงนี้เยอะ”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน