ยอดติดโควิดสะสม ไทยเกิน 1 ล้านรายแล้ว เผย 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด ตรวจ ATK พบผลบวกกว่า 10% คนรอเตียงลดลง หลังการดูแลรักษาที่บ้าน

วันที่ 20 ส.ค.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 19,851 ราย สะสม 1,009,710 ราย รักษาหาย 20,478 ราย สะสม 795,805 ราย เสียชีวิต 240 ราย สะสม 8,826 ราย

อยู่ระหว่างรักษา 205,079 ราย อยู่ใน รพ. 46,023 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 159,056 ราย อาการหนัก 5,388 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,161 ราย

ส่วนการตรวจด้วย ATK เฉลี่ยประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ วันนี้พบ 14.4% โดยผลบวกเข้าการรักษาที่บ้านทันที แต่หากต้องเข้าโรงพยาบาล รพ.สนาม จะตรวจ RT-PCR ผลบวกจะนำไปรวมกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยรวม

ผู้เสียชีวิต 240 ราย มาจาก กทม. 75 ราย กระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น จากการศึกษาผู้เสียชีวิต 4,656 ราย พบ 2,969 รายไม่ได้รับการฉีดวัคซีน คิดเป็น 63.8% รับแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ติดเชื้อใน 2 สัปดาห์ ภูมิยังไม่เกิดขึ้น เสียชีวิต 316 ราย คิดเป็น 7%

ส่วนที่รับแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรก ติดเชื้อใน 4 สัปดาห์ มี 118 ราย คิดเป็น 2.6% ส่วนรับวัคซีนครบ 2 เข็ม ป่วยใน 2 สัปดาห์ จำนวน 26 ราย คิดเป็น 0.6% ถือว่าน้อยที่สุด มีข้อมูลไม่ครบถ้วน 874 ราย คิดเป็น 19.2% จึงให้ทุกจังหวัดระดมฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 (60 คืออายุเกิน 60 ปี, 8 คือ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง บวกหญิงตั้งครรภ์)

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด

ทิศทางผู้ติดเชื้อรายวัน กทม.และปริมณฑล คิดเป็น 41% ต่างจังหวัด 59% แนวโน้มยังคงที่ กราฟไม่ได้สูงขึ้นชัน แม้ฉีดวัคซีนแล้วครบ 2 เข็มแล้วยังประมาทไม่ได้ มีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อได้ โดย 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 4,181 ราย สะสม 234,600 ราย 2.สมุทรสาคร 1,556 ราย สะสม 61,815 ราย 3.ชลบุรี 1,348 ราย สะสม 52,092 ราย 4.สมุทรปราการ 1,055 ราย สะสม 64,340 ราย

5.นครราชสีมา 575 ราย สะสม 13,144 ราย 6.สระบุรี 494 ราย สะสม 15,242 ราย 7.ปทุมธานี 461 ราย สะสม 28,462 ราย 8.นครปฐม 460 ราย สะสม 22,123 ราย 9.พระนครศรีอยุธยา 453 ราย สะสม 15,950 ราย และ 10.ระยอง 414 ราย สะสม 13,850 ราย

คลัสเตอร์แต่ละจังหวัดมีบริบทต่างกัน บางแห่งเริ่มพบการกลับมาแพร่ระบาดของแคมป์คนงาน มีในส่วนของโรงงาน สถานประกอบกิจการด้วย เมื่อค้นเจอผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็น ATK หรือ PCR ระบบการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นตอนนี้จะรองรับได้หรือไม่ เมื่อเราพัฒนาการดูแลที่บ้าน ให้คนมีอาการน้อยดูแลที่บ้านหรือชุมชน ทำให้เกิดเตียงรองรับอาการสีเหลือง สีแดง ที่มีภาวะรุนแรงเข้าถึงเตียงมากขึ้น

จะเห็นว่าอัตราผู้ป่วยสีแดงสีเหลืองรอเตียงน้อยลง การรอเตียงสีแดงก็พยายามทำให้เสร็จในวันเดียวกัน และขอบคุณภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ที่ช่วยกันเปิด Community Isolation 64 แห่ง รวม 8,446 เตียง ฮอสปิเทลก็ปรับมาดูแลกลุ่มสีเหลืองได้ รพ.บุษราคัมก็ปรับมาดูแลสีแดงเพิ่มขึ้น ทิศทางจากนี้ จะเห็นเตียงที่รับสีแดงได้มากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน