หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผยการพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 ยังต้องจับตา ไม่พบรายงานยืนยันความรุนแรงของสายพันธุ์ กรมวิทย์ ยันเฝ้าระวัง

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พบไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 ซึ่งกลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์เกือบ 2 เท่า ในหลายประเทศ เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ อังกฤษ จีน นิวซีแลนด์ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ คองโก และมอริเชียส ว่า ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISAID ซึ่งผ่านคณะกรรมการพิจารณายืนยันแล้ว

จากการพิจารณาตำแหน่งการกลายพันธุ์ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะส่งผลต่ออาการรุนแรงหลังรับเชื้อมากน้อยแค่ไหน มีบ้างที่อาจจะด้อยค่าแอนติบอดีสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นมา ซึ่งยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมากนัก เพียงแต่ดูจากรหัสพันธุกรรมที่เป็นคาดเดาได้บ้าง จึงมีความวิตกว่าจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นหรือไม่ คงต้องพิจารณาองค์ประกอบปัจจัยต่างๆ รวมถึงการระบาดเป็นอย่างไร และตอนนี้ทั้งองค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกาหรือ CDC ยังไม่ได้ยืนยันความรุนแรงจนจัดลำดับความสำคัญกับสายพันธุ์นี้ อย่างไรก็ตามสายพันธุ์แอฟริกาใต้ไม่ค่อยระบาดมาถึงไทย จึงยังไม่มีอะไรบ่งชี้น่ากังวลใจ เพียงแต่เฝ้าจับตา

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า โดยปกติไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา เหมือนสายพันธุ์เดลตาพลัส ซึ่งก่อนหน้ามีข่าวออกมาว่าจะรุนแรงกว่าเดลตา แต่เวลาผ่านไปก็พบว่าเชื้อฝ่อลงและถูกจัดเป็นกลุ่ม AY.1 AY.2 จากนั้นก็ลดลงในที่สุดก็ถูกถอดออกจากการจัดให้เป็นไวรัสที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนที่ระบุ C.1.2 มีการระบาดไปถึง 7 ประเทศ โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ระบาดครึ่งประเทศ ก็ต้องดูว่าสัดส่วนเท่าไหร่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ขณะนี้

อย่างอัลฟา 6 เดือนที่แล้วระบาดเกือบ 100% แต่ตอนนี้เหลือน้อยกว่า 1% สำหรับประเทศไทยขณะนี้สายพันธุ์อัลฟาเหลือเพียงประปราย ถือว่าน้อยมาก เนื่องจากเดลตาครองพื้นที่เกือบทั้งหมดแล้ว ส่วนเดลตากลายพันธุ์หรือ AY.4 ขณะนี้ยังทรงตัวอยู่ ต้องดูอีกสักเดือน อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยเริ่มชะลอตัวลดลง ก็ส่งผลดีถึงการกลายพันธุ์ก็อาจจะน้อยลงด้วย และหากสามารถกันคนจากข้างนอกเข้ามาก็จะยิ่งดี เพราะการกลายพันธุ์เกิดจากการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนจำนวนมาก

ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้สายพันธุ์ C.1.2 ยังไม่เจอในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีการเฝ้าระวังเรื่องสายพันธุ์อยู่ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง เฉพาะกรมตรวจได้สัปดาห์ละ 400-500 ตัวอย่างซึ่งยังไม่พบสายพันธุ์นี้ ส่วนสายพันธุ์เดลตา AY ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มในประเทศไทย และยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน