อธิบดีกรมควบคุมโรค ยันตัวเลขติดโควิดลดลงจริง ไม่มีปกปิดตัวเลข ท้าไปดูได้ที่ รพ.บุษราคัม ย้ำอย่าด้อยค่าซิโนแวค ชี้ช่วยไทยรอดพ้นระบาดมาหลายครั้ง วอนซักฟอกอย่าทำให้คนกลัวจนไม่ไปฉีด อธิบดีกรมวิทย์ ยันด้วยหากไม่ฉีดซิโนแวคตั้งแต่ ก.พ.อาจป่วยตายมากกว่านี้หลายเท่า

วันที่ 31 ส.ค.2564 ที่รัฐสภา นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงกรณีวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดย นพ.ไพศาล กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล การนำมาใช้ในประเทศต้องผ่านการอนุมัติขึ้นทะเบียนจาก อย. ซึ่งวัคซีนซิโนแวคได้รับอนุมัติวันที่ 22 ก.พ. 2564 อนุมัติใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้เวลาพิจารณา 29 วัน เราดูเรื่องความปลอดภัย คุณภาพมาตรฐานวัคซีน และประสิทธิผลจากเอกสารผู้ผลิตเกือบหมื่นหน้า ระดมสรรพกำลังบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจาก อย.และภายนอกมาร่วมกันพิจารณาให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิผล คุณภาพ และความปลอดภัย

ซิโนแวค

“ข้อมูลการทดลองวิจัยในประเทศบราซิล เราดู 2 อย่างคือ สามารถป้องกันอาการของโรค และลดความรุนแรง ซึ่งซิโนแวคผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยประเทศบราซิลทดลองกับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายคนทั่วไป ก็ป้องกันการติดเชื้อได้ ป้องกันการเข้า รพ. 78% ลดเสียชีวิต 100% และมีประสิทธิผลมากกว่า 50% ขอให้มั่นใจ ส่วนประเทศไทยหลังขึ้นทะเบียน องค์การอนามัยโลกก็ขึ้นทะเบียนใช้ฉุกเฉินตาม และซื้อไปใช้กับทั่วโลกหลายร้อยล้านโดส” นพ.ไพศาล ระบุ

ด้านนพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ทุกล็อตของวัคซีนไม่ว่ายี่ห้อใดก็ตาม หลังผ่านขึ้นทะเบียน อย. เมื่อนำเข้ามากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการรับรองรุ่นการผลิต แม้แต่ประเทศเจริญแล้ว สิงคโปร์ มาเลเซีย ยังดูแค่เอกสารว่ามีคุณภาพอะไรแค่ไหนของโรงงานผลิต แต่บ้านเรามีขีดสามารถตรวจวัคซีนเป็นๆ ได้ วัคซีนที่เข้ามาเราตรวจทุกล็อต ตรวจ 2 อย่าง คือ ความปลอดภัยและคุณภาพตัววัคซีน ทุกรุ่นที่ออกไปก่อนส่งให้กรมควบคุมโรคผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งสิ้น ทั้งนี้ ซิโนแวคเป็นวัคซีนเชื้อตาย เรามีประสบการณ์ทำมายาวนาน และผลข้างเคียงน้อยมากที่สุด แต่เราเห็นเรื่องการกลายพันธุ์ จึงตั้งคำถามว่า ซิโนแวคยังป้องกันเดลตาได้ไหม เพราะเราเห็นว่าเดลตามีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ

” จากการทดลองร่วม ม.มหิดล โดยใช้เลือดจากอาสาสมัครจำนวนมากพอสมควรที่รับซิโนแวค 2 เข็ม พบว่ายังกันเดลตาได้ เป็นข้อมูลจากแล็บ ถ้าสลับสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันสูงเท่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม ขอให้เข้าใจว่า รับซิโนแวคไป 2 เข็มไม่ได้เสียเปล่า เพราะมีข้อมูลการใช้จริง วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่อยู่ในตัวแล้ว ถ้ายังหาวัคซีนอะไรที่ยังมาไม่ถึงแขนจะเป็นอันตราย วัคซีนที่ฉีดไปไม่ได้เสียเปล่า การฉีดสูตรไขว้สร้างระดับภูมิคุ้มกันสูง ถ้าเราไม่ฉีดซิโนแวคตั้งแต่ ก.พ.เป็นต้นมา อาจเสียชีวิต ป่วยตายหลายเท่า ขอให้เข้าใจว่า ยังมีประโยชน์เรื่องการช่วยระบบสาธารณสุขของประเทศ กรมวิทย์จะตรวจทดลองต่อไปไม่ว่ากลายเป็นพันธุ์ไหนก็ตาม” นพ.ศุภกิจ เผย

ขณะที่ นพ.โอภาส เปิดเผยว่า เรามีการประเมินผลการฉีดวัคซีนภาคปฏิบัติจริง ในโลกแห่งความเป็นจริง ทำโดยหลายหน่วยงาน นักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น การทดสอบที่ภูเก็ต มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก มีประสิทธิผลป้องกันติดเชื้อป่วยหนักเสียชีวิต 90.6% ทดสอบที่สมุทรสาครที่มีการระบาดปลายปี 63 ศึกษาพบว่าป้องกันโรค 90% และเมื่อมีการระบาดในบุคลากรสาธารณสุข จ.เชียงราย ทดสอบทบทวนประสิทธิผลป้องกันโรคได้ 82% รวมถึงกองระบาดวิทยาสรุปผลภาพรวมตั้งแต่ฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ มี.ค.-ก.ค. และปัจจุบันยังตามอยู่ ประสิทธิผลป้องกันโรค 75% ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตมากกว่า 80% ขึ้นไป ยืนยันว่าซิโนแวคมีประสิทธิภาพทั้งการใช้จริงและห้องทดลอง

  ท้าไปดูรพ.

“แต่เมื่อมีเชื้อเดลตามา หลายคนสงสัย เราใช้มาตั้งแต่ มี.ค. ซึ่งยังไม่มีเดลตาวัคซีนมีประสิทธิผลดี แต่พอมีขึ้นมาก็ไม่นิ่งนอนใจ ทำให้ประสิทธิผลวัคซีนมีมากขึ้น คือ การฉีดสูตรไขว้ ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ ทำให้ภูมิดีขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า ทั้งคณะแพทยศาสตร์ศิริราช จุฬาฯ และกรมวิทย์ ซึ่งต่างคนต่างวิจัยแต่ผลสอดคล้องกัน และ WHO สั่งซื้อหลายร้อยล้านโดสกระจายประเทศต่างๆ จึงอย่าด้อยค่าซิโนแวค ซิโนแวคทำให้เราพ้นการระบาดหลายครั้ง รวมถึงครั้งนี้ อย่าทำให้ประชาชนกลัววัคซีนจนไม่ไปฉีด ขอให้เชื่อมั่นนว่าวัคซีนที่มีจะทำให้ปลอดภัย”

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ช่วงอภิปรายทำไมตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดลดลง ค่าต่างๆ ที่นำมาวิเคราะห์ประเมินผลแจกแจงประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลก เราเก็บจากหลายหน่วยงาน ใช้ระบบวิเคราะห์ที่ทำมาเป็นปี ตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน การที่ผู้ป่วยลดลงมาก เป็นคุณค่าของประชาชนที่ใช้มาตรการสังคม ล็อกดาวน์ ออกจากบ้านน้อยลง สวมหน้ากาก ฉีดวัคซีน สามารถไปดู รพ.สนามบุษราคัม ที่ปกติผู้ป่วยมากกว่า 3,500 คน ตอนนี้เหลือ 1,500 คน คนป่วยเจ็บหนักไป รพ. ตอนนี้ รพ.ทุกแห่งคนไข้ลดลง ต่างจังหวัดก็ลด เวลาป่วยไม่รู้ไปไหน ก็ไปศูนย์นิมิบุตร กทม. จากเดิมมีคนไข้รอส่งต่อหลายร้อยคน เหลือรอส่งตัวไม่ถึง 70 คน ยืนยันว่าไม่มีปกปิดตัวเลข ปัจจุบันไม่มีล้นแออัดจำนวนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน