หมอประสิทธิ์ แจงวัคซีนไขว้จำเป็นรับมือเดลต้า ชี้ฉีด ‘แอสตร้า’เข็มเดียวใช้ไม่ได้แล้ว เผยเมื่อเวลาผ่านไปภูมิฯ จะลดลง หากกระตุ้นไม่ทัน จะเกิดอันตรายได้

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.64 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการกล่าวถึงสูตรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบไขว้ชนิดวัคซีน ในประเทศไทย ว่า การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ด้วยวัคซีนซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 2 ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลการศึกษาวิจัย พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นสูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็มที่จะต้องฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และต้องรอให้ภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้อีก 2 สัปดาห์รวมเป็น 14 สัปดาห์

“ในขณะที่เราฉีดสูตรไขว้ ด้วยซิโนแวคแล้วอีก 3 สัปดาห์เราฉีดเข็มที่ 2 ด้วยแอสตร้าฯ เว้นไปอีก 2 สัปดาห์ภูมิฯ ก็ขึ้นสูงในเวลาเพียง 5 สัปดาห์ จุดต่างระหว่าง 5 กับ 14 สัปดาห์ มีความสำคัญอย่างมาก ในเวลาที่เราเจอกับเชื้อที่แพร่กระจายเยอะและเร็ว มันแข่งกับเวลา” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการที่บอกว่า ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เพียงเข็มแรก ก็สามารถป้องกันโรคได้ นั่นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับสายพันธุ์อัลฟ่า แต่กับเดลต้าไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ซึ่งงานวิจัยต่างประเทศก็ออกมาพูดเรื่องนี้กันเยอะว่า เข็มเดียวไม่เพียงพอต้องฉีด 2 เข็ม ที่สำคัญคือเมื่อเวลาผ่านไปภูมิฯ ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนจะลดลง หากไม่กระตุ้นให้ทัน ก่อนที่จะลดต่ำมาถึงจุดที่ไม่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ก็จะเกิดอันตรายได้

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ฯ กล่าวว่า เรามีข้อมูลผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มแรก ยังไม่ได้รับเข็มที่ 2 แต่เกิดการติดเชื้อจนเสียชีวิต ดังนั้น ระบบการจัดการบริหารวัคซีนที่ดี คือ เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สูง ให้เร็ว เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะติดเชื้อเมื่อไหร่ จึงเป็นเหตุผลหลักที่เรานำสูตรไขว้มาใช้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน