เผยยอดติดเชื้อแฝง อาจมากถึง 7 ล้านคน เฉพาะกทม. 1.5 ล้านคน ชี้ฉีด 3 เดือนภูมิตกทุกยี่ห้อ รับไม่สามารถทำให้ตัวเลขเป็นศูนย์ได้ในสิ้นปี

เมื่อวันที่ 8 ก.ย.64 นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวในรายการ NBT รวมใจสู้ภัยโควิด-19 @ทำเนียบรัฐบาล ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ขณะนี้ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.4 – 1.5 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่ปี 63 แค่หลักพันก็เต็มที่ แต่ปัจจุบันแนวโน้มสถานการณ์ของโลกและไทยเป็นขาขึ้นใหม่ เหตุผลมาจาก 2 ปัจจัยคือ โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ากระจายได้รวดเร็วมาก และรุนแรง ตอนนี้เชื้อไปทุกที่ ระบาดในคนใกล้ชิด ในครอบครัว และชุมชน จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าการระบาดปัจจุบันสอดคล้องกับที่อู่ฮั่นระบาดว่าคนที่ไม่อาการและไม่เคยไปตรวจโควิด-19 เมื่อไปตรวจพบว่าเป็นโควิด-19 อีกประมาณ 5-6 เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยัน

“ยกตัวอย่างในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันในกทม.ประมาณ 2.5 แสนคน เอา 6 เท่าคูณ หรืออีกราว 1.5 ล้านคน ซึ่งเรียกว่าติดเชื้อแฝง ไม่เคยไปตรวจ ไม่มีอาการ ไม่ใช่แค่วันละ 4-5 พันคน เหมือนตัวเลขที่เห็นในปัจจุบัน ตอนนี้เลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมทะลุไป 1.2 ล้านคน ถ้าเอา 5-6 เท่าคูณ จะมีคนติดเชื้อประมาณ 6-7 ล้านคนที่แฝงอยู่ และสามารถแพร่เชื้อมาให้เราได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการติดเชื้อจากคนใกล้ชิด แม้สนิทแค่ไหนก็ไว้ใจไม่ได้”

นพ.อุดม กล่าวว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่มีข้อมูลชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาด แต่ในสหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 100% ครบสองเข็ม ถึง 60-70% ตอนนี้เขากลับมาติดเชื้อใหม่กันเต็มไปหมด ประชาชนจึงต้องทำความเข้าใจว่าวัคซีนขณะนี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ กันได้สัก 50-60% เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่จะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ไม่ให้เข้าโรงพยาบาล เข้าไอซียูไม่เสียชีวิต วัคซีนทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ ประมาณ 90-100% เหมือนกัน

ดังนั้น จึงขอให้ฉีดให้เร็วที่สุด อาการจะไม่รุนแรง และยังเป็นการป้องกันระบบสาธารณสุขไม่ให้รับภาระเกินไป เห็นได้จากประเทศอังกฤษที่มีการติดเชื้อสูง แต่ผู้เสียชีวิตน้อย เพราะเขาฉีดกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และโรคร่วม เราจึงจะคิดแบบเดิมไม่ได้ จะมานั่งล็อกดาวน์มันก็ไม่ไหว เศรษฐกิจไม่ไหว ต้องยอมรับ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนหนึ่งเสียหายเป็นแสนล้าน เราต้องมาปรับใจใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่ ศบค.ยอมผ่อนปรนทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเป็นหมื่น

“เราดูอยู่แล้วว่าอย่างไรก็ไม่มีทางลง ขนาดใช้มาตรการเต็มที่ยังลงได้นิดเดียว ดังนั้น เรามาชั่งน้ำหนัก ระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ ถ้าเข้มเรื่องสุขภาพมากเศรษฐกิจก็เสีย ถ้าปล่อยเศรษฐกิจเสรีเลยสุขภาพก็จะแย่ คนจะตายเยอะ เราก็รับไม่ได้ เราต้องทำให้มีความสมดุล จึงผ่อนปรนโดยมีเงื่อนไขคือ ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด”

นพ.อุดม กล่าวว่า เป้าหมายของการควบคุมโรคโควิด-19 ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องทำให้ตัวเลขเป็นศูนย์ ตนบอกเลยไม่มีทางเป็นศูนย์แน่นอน ภายในเดือน ธ.ค.ไม่มีทางเป็นศูนย์แน่นอน แต่เราจะให้มันน้อยลง ปรับตัวอยู่กับมันได้ ให้ดำเนินชีวิตได้ในชีวิตวิถีใหม่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้ นายกฯระบุว่าต้องการเปิดประเทศให้ได้ โดยการให้คนไทยออกไปใช้ชีวิตได้ และต่างประเทศมาเที่ยวในบ้านของเราได้ คือ เป้าหมายใหม่ของเรา

นพ.อุดม กล่าวยืนยันการได้รับวัคซีนว่า หลังจากนี้เราจะได้วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่เดิมจะตัดยอดให้เราเดือนละ 5-6 ล้านโดส เดือน ก.ย.เขาเพิ่มให้เรา 7.3 ล้านโดส เดือน ต.ค. 11 ล้านโดส พ.ย. 13 ล้านโดส ธ.ค. 13 ล้านโดส นอกจากนี้ วันที่ 29 ก.ย.จะได้ไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ต.ค.อีก 8 ล้านโดส พ.ย. 10 ล้านโดส ธ.ค. 10 ล้านโดส รวม 30 ล้านโดส ดังนั้น 3 เดือนข้างหน้าเราจะมีวัคซีนเดือนละ 20 ล้านโดสเลย เราจึงจะเร่งฉีด ไม่ต้องกังวลศักยภาพการฉีด เราสามารถฉีดวันละ 8-9 แสนโดสสบายๆ

“ยืนยันถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภายในเดือน ธ.ค.เราจะฉีดวัคซีนสองเข็มได้ตามเป้า มากกว่า 70% ของประชากรแน่นอน และจะฉีดเข็มที่สามได้ด้วย ตอนนี้วัคซีนเพียงพอสำหรับเข็มที่สาม เพราะหลังจากเราติดตามพบว่า วัคซีนทุกตัว ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ เมื่อฉีดไปแล้ว 3 เดือน ภูมิมันตกทุกตัว ถ้าภูมิมันตกไปมากจะสู้กับเดลต้าไม่ไหว เราต้องสร้างภูมิให้มากขึ้นด้วยการฉีดเข็มที่สาม โดยตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไปเราจะได้เข็มที่สาม เป็นแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ เราวางแผนไว้เรียบร้อย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน