สธ.คาด เริ่มฉีดไฟเซอร์ นักเรียน 12-17 ปี 4 ต.ค.นี้ เผยผลกระทบข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แจงพ่อแม่เลือกรอวัคซีนเชื้อตายได้

วันที่ 17 ก.ย.64 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงสถานการณ์วัคซีนโควิด 19 ว่า สำหรับการให้บริการวัคซีนเด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี ที่กำลังจะเปิดเรียนต้น พ.ย.นี้ กลุ่มวัยนี้อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เช่น ปวช. การออกแบบให้บริการวัคซีนกลุ่มนี้ จะให้บริการในโรงเรียน สถานศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีประสบการณ์ให้วัคซีนตัวอื่นในสถานศึกษามาก่อน

เช่น วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยครอบคลุมทั้งโรงเรียนภาครัฐและเอกชน อาชีวศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม สถาบันการศึกษาปอเนาะ โรงเรียนประเภทอื่นที่มีคนอายุ 12-17 ปี หรือสถานที่อื่นใกล้ๆ ที่สะดวก ให้บริการทั่วถึงรวดเร็ว

ตั้งเป้านักเรียน 4.5 ล้านคน

เป้าหมายจากตัวเลขประมาณการณ์คือเด็กนักเรียน 4.5 ล้านคน เริ่มต้นได้ช่วง ต้น ต.ค. คือ วันที่ 4 ต.ค. ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ โดยประสานผ่านไปหน่วยงานต่างๆ ที่มีโรงเรียนในสังกัด ใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ซึ่งรู้พื้นที่ดีว่ามีโรงเรียนที่ไหนบ้าง เด็กนักเรียนจำนวนเท่าไร เพื่อสำรวจ ให้โรงเรียนประสานกับผู้ปกครองแจ้งให้ทราบถึงการฉีดวัคซีนนักเรียนเพื่อป้องกันโควิด 19

โดยมีเอกสารแบบสำรวจความประสงค์ของผู้ปกครองที่จะให้นักเรียนฉีดวัคซีน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมื่ได้จำนวนจะแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือสำนักอนามัย กทม. เพื่อให้กรมควบคุมโรคจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บริการช่วง ต.ค.เป็นรายจังหวัด แต่ละสัปดาห์มีจำนวนวัคซีนที่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า มีการดำเนินการนัดหมายเด็กนักเรียนให้ทราบวันที่ฉีด ดำเนินการฉีดโดย รพ.ใกล้สถานศึกษา หรือ รพ.ที่สถานศึกษาประสานไว้ ฉีดแล้วลงข้อมูลใน MOPH IC และติดตามอาการไม่พึงประสงค์ 30 วัน

เผยผลข้างเคียงฉีดไฟเซอร์

“กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์อายุ 12 ปีขึ้นไป ที่กำลังศึกษาในมัธยมหรือเทียบเท่า เพื่อให้สามารถฉีดได้รวดเร็วทันในช่วงเปิดเทอม และมีคำแนะนำต่างๆ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบต่างประเทศพบ 16 รายต่อ 1 ล้านโดส ประเทศไทยฉีดตั้งแต่ต้น ส.ค.พบ 1 ราย รักษาอาการดีขึ้น โดยเด็กอาจมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม ไม่สะดวก หากมีอาการให้มารักษา รักษาหายได้” นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า การฉีดในเด็กระยะแรกเป็นไฟเซอร์ ระยะต่อไปมีวัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น วัคซีนเชื้อตาย ที่ช่วยให้นักเรียนมีความปลอดภัยมากขึ้น แม้ไม่ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ลดแพร่เชื้อ ทำให้การจัดการเรียนสอนต่อเนื่อง ลดเสี่ยงเด็กพาเชื้อไปสู่สมาชิกในครัวเรือน ซึ่งอาจมีผู้สูงอายุในบ้านที่มีความเสี่ยงได้ ถ้าบ้านใดมีเด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ ผู้ปกครองมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ก็ควรฉีดเพื่อลดเสี่ยงติดเชื้อเช่นกัน

ถามว่าผู้ปกครองหลายคนกังวลใจ mRNA จะเลือกวัคซีนเองได้หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า แผนให้วัคซีนในโรงเรียน รัฐจัดหามีจำนวนมากให้ครอบคลุมทุกโรงเรียน โดยมีไฟเซอร์เป็นตัวแรกที่จะให้ได้ครอบคลุมในจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มีชนิดเชื้อตาย ทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์มมีการฉีดในเด็กจีนแล้ว 90 ล้านกว่าคน แต่ 2 ชนิดนี้อยู่ระหว่างขอปรับทะเบียนกับ อย.เพื่อฉีดในเด็กได้ด้วย จากเดิมฉีดเฉพาะอายุ 18 ปีขึ้นไป

หากผู้ปกครองประสงค์ฉีดเชื้อตายให้เด็ก ต้องติดตามต่อว่าจะมีวัคซีนให้บริการในโรงเรียนมากน้อยแค่ไหน แต่ที่ สธ.จัดให้เวลานี้คือไฟเซอร์ มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จึงต้องให้ความรู้ผู้ปกครองเข้าใจประเมินถึงประโยชน์ ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ก่อนตัดสินใจ หากผู้ปกครองยังไม่ประสงค์ให้ฉีด mRNA ก็รอชนิดเชื้อตายได้ แต่ยังต้องรอก่อน

เมื่อถามว่าการฉีดนักเรียนจะฉีดเป็นชั้นปีหรือไม่ และกลุ่มที่ไม่อยู่ในโรงเรียนจะดำเนินการอย่างไร นพ.โสภณ กล่าว่า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย สธ.ออกแบบให้ฉีดเป็นช่วงชั้นเรียน เช่น ม.1-6 หรือชั้นเรียนที่เทียบเท่า ปวช.ปี 1-3 ส่วนอายุอย่างน้อย 12 ปีสำหรับรับวัคซีนไฟเซอร์ หากมีนักเรียน ม.6 อายุเกิน 17 ปีไปบ้าง ก็ให้ฉีดได้

หากจะมีนักเรียนที่บ้านโฮมสคูลหรือสถานที่อื่น โรงเรียนคนพิการ ก็สามารถรับวัคซีนเช่นกัน การฉีดจำนวนมาก 4 ล้านคนใน 1 เดือน เราออกแบบให้เกิดความชัดเจนการปฏิบัติ แต่มีความยืดหยุ่นพื้นที่ปรับให้สอดคล้องกับลักษณะของเด็ก อย่างเด็กนอกการระบบการศึกษาในวัยนี้ ถ้าวัคซีนเพียงพอก็ให้บริการได้เช่นกัน

รอ ‘ซิโนแวค’ ขึ้นทะเบียนฉีดในเด็ก

ถามว่าหากซิโนแวคขึ้นทะเบียนฉีดในเด็กแล้วที่จะนำมาฉีดเป็นล็อต 12 ล้านโดสหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ใช่ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้นำมาใช้ ต้องรอการขึ้นทะเบียนฉีดได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องทบทวนข้อมูลนี้ก่อน เบื้องต้นจะไม่มีการใช้สูตรไขว้ในเด็ก จะเป็นซิโนแวค 2 เข็ม และใช้ในล็อตเดิม 12 ล้านโดส น่าจะเพียงพอ เพราะเด็กกลุ่มเป้าหมาย 4.5 ล้านโดส หากฉีดไฟเซอร์ไปแล้วก็อาจเหลือประมาณ 1-2 ล้านคน ซึ่งก็จะใช้ได้ และจะลดข้อกังวลปัญหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ต้องรอ อย.พิจารณาปรับทะเบียนจึงสามารถใช้ได้

เมื่อถามว่าหากผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย เพื่อลดข้อกังวลภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนชนิด mRNA ก็ต้องรอใช่หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ใช่ เพราะต้องรอ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกผลการศึกษาในเด็กที่ อย.กำลังทบทวน ส่วนกรณีวัคซีนซิโนฟาร์ม จะมีส่วนหนึ่งที่มีการรับเด็กนักเรียนแต่เป็นการศึกษาวิจัย ก็ต้องติดตามข้อมูล

โดยสรุป ขณะนี้ในรัฐจัดบริการวัคซีนเด็กอายุ 12-17 ปี คือ วัคซีนไฟเซอร์ มีเวลา 1 เดือนก่อนโรงเรียนเปิด ซึ่งจะให้บริการพร้อมกันทุกระดับชั้น โดยวัคซีนไฟเซอร์จะมาถึงปลาย ก.ย. วันที่ 29 ก.ย. ใช้เวลาตรวจคุณภาพความปลอดภัย 3-4 วัน และส่งไปยังพื้นที่ เพื่อให้บริการในช่วงวันที่ 4 – 9 ต.ค.เป็นต้นไป หากเร่งฉีดเข็ม 1 ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ก็จะฉีดเข็มที่ 2 ได้ทันก่อนเปิดเรียน หรือเปิดไปแล้วเล็กน้อยก็ยังพอไหว

เมื่อถามว่าการเปิดเรียนมีเงื่อนไขว่า ต้องมีการฉีดวัคซีนในเด็กทุกคนหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องฉีดวัคซีน แต่การฉีดวัคซีนช่วยให้เกิดความปลอดภัย หากอายุต่ำกว่า 12 ปีไม่ได้รับวัคซีนก็เปิดเรียนได้ หากทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาว่าปลอดภัย ดังนั้น เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนก็สามารถไปโรงเรียนได้ เพราะยังต้องมีมาตรการอื่นๆร่วมด้วย

ถามว่าเด็กนอกระบบการศึกษาจะลงทะเบียนจองสิทธิผ่านระบบอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ไม่อยู่ในระบบการศึกษาปกติ มี 2 ส่วน คือ เด็กไม่เรียนหนังสือ เพราะมีโรคประจำตัวภาระบางอย่างจึงเรียนไมได้ เช่น ความพิการ ก็เข้ารับวัคซีนที่ รพ.ประจำได้อยู่แล้ว

ส่วนการศึกษาพิเศษ โฮมสคูลเรียนที่บ้าน ไปขอขึ้นทะเบียนรับวัคซีนอายุ 12-17 ปีกับ รพ.ใกล้บ้านได้ เพราะ ต.ค.-ปลายปี ประเทศไทยมีการรับมอบวัคซีนไฟเซอร์เข้ามารวมกัน 30 ล้านโดส มีเพียงพอ ขอให้ผู้ปกครองแจ้งความประสงค์ รพ.ใกล้บ้าน ส่วนเด็กเร่ร่อนก็จะมีคนไปดูแล ขอให้อยู่ในวัยนี้เรามีวัคซีนเพียงพอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน