วิโรจน์อัดตั้งศบค.ส่วนหน้า แก้โควิดที่ชายแดนใต้ สุดซ้ำซ้อน ชี้คนไม่กล้าฉีดวัคซีน เหตุไม่ไว้ใจรัฐ เครื่องมือขาดแคลน แนะใช้ศอ.บต.แก้ปัญหาจะดีกว่า

วันที่ 21 ต.ค.2564 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีคำสั่งจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้าเพื่อจัดการสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จากการหารือกับคณะทำงานของพรรคก้าวไกลในพื้นที่ ทราบว่าอุปสรรคสำคัญในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ หลักๆ มีอยู่ 2 ปัจจัย

ปัจจัยแรก คือ การที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ยินยอมฉีดวัคซีน หากรัฐบาลกล้าที่จะถามตัวเองว่า เหตุใดประชาชนถึงไม่ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน ก็จะหาคำตอบได้ไม่ยาก นั่นคือ ประชาชนไม่มีความไว้วางใจในรัฐบาล จากกรณีข่าวการซ้อมทรมานและการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ปรากฏตามหน้าสื่ออยู่เป็นระยะๆ

ดังนั้น พอประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็เป็นการยากมากๆ ที่ประชาชนจะเต็มใจปฏิบัติตามคำแนะนำจากรัฐบาลในการควบคุมการระบาดของโรค ยิ่งการฉีดวัคซีนเป็นการนำเอาสารชีววัตถุที่เป็นของใหม่ที่การเข้าถึงข้อมูลยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด ยิ่งทำให้ประชาชนที่ไม่ไว้วางใจรัฐบาลอยู่เป็นทุนเดิมมีความระแวงที่จะฉีด

ปัญหานี้จะแก้ด้วยการใช้อำนาจบังคับแบบตรงๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยความเข้าใจผ่านผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และบุคคลที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นกลไกในการรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่มาเข้ารับการฉีดวัคซีน

ส่วนการจัดตั้งศบค.ส่วนหน้า แล้วใช้อำนาจบังคับแบบทันทีทันใด เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น สมมติหากมีการใช้อำนาจบังคับหรือกึ่งบังคับให้ประชาชนในพื้นที่ฉีดวัคซีน ในระยะสั้นอาจจะบังคับเกณฑ์ประชาชนมาฉีดวัคซีนได้เป็นจำนวนมากได้

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการฉีดวัคซีนนั้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่ไม่มากนัก แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่บ้าง หากเมื่อเทียบกับประโยชน์ในการปกป้องชีวิตของตัวเองและคนในครอบครัวจากโรคระบาด ก็ยังถือว่าการฉีดวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น และมีความคุ้มค่าที่จะฉีด

อย่างไรก็ดี ถ้าหากประชาชนที่ถูกเกณฑ์มาฉีดไม่เข้าใจในประเด็นนี้ และเมื่อมีประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับผลข้างเคียง หรือมีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีน ความไม่เข้าใจที่ถูกรัฐบังคับก็จะกลายเป็นความโกรธแค้น และจะทำให้ความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ดังนั้น แทนที่รัฐบาลจะจัดตั้งศบค.ส่วนหน้า ขึ้นมาใช้อำนาจซ้ำซ้อน รัฐบาลควรใช้กลไกของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่า โดยสนับสนุนทางด้านงบประมาณ และกำลังคนให้ ศอ.บต.อย่างเต็มที่

ปัจจัยที่สอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ความพร้อมทางด้านทรัพยากรบุคคล ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของศูนย์ดูแลผู้ป่วยและกักกันโรคประจำชุมชน หากรัฐบาลจะสั่งการให้กองทัพ หรือฝ่ายความมั่นคงนำเอากำลังพลเข้ามาช่วยเสริมในจุดนี้ หากจัดสรรและวางหน้าที่กันอย่างชัดเจน ก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตราบใดก็ตาม หากยาและเวชภัณฑ์มีไม่เพียงพอ ประชาชนที่ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสได้อย่างล่าช้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่างๆ เช่น เครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ ขาดแคลน ต่อให้จัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้าขึ้นมาก็ไม่อาจที่จะควบคุมการแพร่ระบาดได้

ในประเด็นสำคัญเหล่านี้ คนที่มีความรู้ความเข้าใจมากที่สุดคือ หน่วยงานด้านสาธารณสุข ไม่ใช่หน่วยงานด้านความมั่นคง ดังนั้น บทบาทหลักในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด จึงควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข

โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นหน่วยงานเสริมด้านกำลังคน น่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะที่สุดในการคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน