สธ.แจงยาต้านโควิด “โมลนูพิราเวียร์” “ยาแพกซ์โลวิด” ลดป่วยหนักถึง 50% และ 89% ตามลำดับ ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ชงครม.อนุมัติงบจัดซื้อ คุยไฟเซอร์ 12 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.64 นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวประเด็นยารักษาโควิด 19 โมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิด ว่า กระบวนการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด 19 นั้น เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะมาจับกับตัวรับไวรัส

จากนั้นจะเข้าสู่เซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนโดยจำลองตัวเองเพิ่มขึ้น ด้วยการใช้เอนไซม์โปรตีเอสช่วยเพิ่มจำนวน ทำให้ไวรัสมีโปรตีนออกมาจำนวนมากขึ้น แล้วไวรัสจึงถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมตัวเองจาก RNA เป็น DNA ก็จะได้ไวรัสจำนวนมากออกมา ซึ่งยาต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นจะมีกลไกยับยั้งการทำงานของไวรัสในช่วงต่างๆ เช่น ยาโมโนคลอนอลแอนติบอดี หรือวัคซีน จะมาช่วยยับยั้งการจับตัวของไวรัสกับเซลล์

ยาโมลนูพิราเวียร์

นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดนั้น ซึ่งเป็นยาชนิดรับประทานเหมือนกัน แต่มีกลไกการทำงานต่างกัน โดยยาโมลนูพิราเวียร์จะยับยั้งการจำลองตัวเองของไวรัสในการเปลี่ยน RNA เป็น DNA จากข้อมูลวิจัยเบื้องต้นจากการให้ยาโมลนูพิราเวียร์ 385 คน และยาหลอก 377 คน

โดยยาโมลูพิราเวียร์เม็ดละ 200 มิลลิกรัม รับประทาน 4 เม็ดต่อมื้อ จำนวน 2 มื้อ รวม 800 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน หรือใช้ 40 เม็ดต่อคนในการรักษา ติดตามในเวลา 29 วัน พบว่าคนที่ได้รับยาหลอกมีการนอนรพ.และเสียชีวิต 14.1% มีผู้เสียชีวิต 8 คน ส่วนรับยาโมลนูพิราเวียร์นอน รพ. 7.3% ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ถือว่าลดการนอนรพ.และเสียชีวิตลงประมาณ 50% เป็นที่มาของการพยายามนำยาเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาเช่นเดียวกัน

ส่วนยาแพกซ์โลวิดจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรตีเอส ทำให้เพิ่มจำนวนโปรตีนไม่ได้ จากการวิจัยโดยใช้ยาแพกซ์โลวิดคู่กับยาริโทนาเวียร์ 389 คน และยาหลอก 385 คน โดยยาแพกซ์โลวิดเม็ดละ 150 มิลลิกรัม รับประทาน 2 เม็ดต่อมื้อ ยาริโทนาเวียร์เม็ดละ 100 มิลลิกรัม รับประทาน 1 เม็ดต่อมื้อ โดยรับประทานยา 2 ตัวร่วมกันวันละ 2 มื้อ ห่าง 12 ชั่วโมง เป้นเวลา 5 วัน จึงใช้ยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ดและริโทนาเวียร์ 10 เม็ดต่อคน วัดผลลัพธ์ความเสี่ยงนอน รพ.และเสียชีวิตที่ 28 วัน

พบว่าผู้รับยาหลอกมีการนอน รพ.และเสียชีวิต 7% ได้รับยาแพกซ์โลวิดและยาริโทนาเวียร์ นอน รพ. 0.8% ไม่มีผู้เสียชีวิต ถือว่าลดการนอน รพ.และเสียชีวิต 89% ในเงื่อนไขว่าได้รับยาใน 3 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ หากรับยาภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการประสิทธิผลเหลือ 85% แต่ก็ถือว่าสูง

“ยาทั้ง 2 ตัวมีประสิทธิผลช่วยไม่ให้เสี่ยงอาการรุนแรงต้องเข้า รพ. และเสียชีวิต การนำข้อมูลมาแสดงนี้ไม่ได้ต้องการเอามาเปรียบเทียบกันว่าตัวไหนดีกว่ากัน เนื่องจากกลไกการออกฤทธิ์คนละที่ แต่ผลลัพธ์เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์ไหน เพียงแต่การใช้จะใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ตัวเดียว ซึ่งยานี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องไข้หวัดใหญ่ ส่วนยาแพกซ์โลวิดต้องใช้คู่กับยาริโทนาเวียร์ และต้องใช้กับโควิดโดยเฉพาะ ซึ่งในการจัดซื้อยาทางบริษัทก็จะจัดยาให้มาใช้คู่กัน” นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว

ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาทั้ง 2 ตัวใช้ได้ดีในคนที่มีอาการน้อย – ปานกลาง เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง อาทิ โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ เบาหวาน อ้วน เป็นต้น ในผลการศึกษา ยังไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง ส่วนข้อห้ามใช้นั้นก็เหมือนกับยาทั่วๆ ไป คือ ยังไม่แนะนำในคนที่มีความผิดปกติของตับรุนแรง ไตรุนแรง เอชไอวีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ เนื่องจากยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มนี้

เบื้องต้นคาดว่าจะจัดหามาเท่าไรนั้น เบื้องต้นต้องมีการคำนวนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เช่น 1 หมื่นรายต่อวัน คาดว่าจะมีกลุ่มเสี่ยงต้องใช้ยานี้ประมาณ 10% หรือ 1,000 คนต่อวัน ส่วนราคาตอนนี้คงพูดยาก เพราะเป็นยาใหม่ แต่ในประเทศกำลังพัฒนาอาจมีราคาถูกกว่า

นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับการจัดหายาทั้ง 2 ตัวนั้น ยาโมลนูพิราเวียร์อยู่ระหว่างนำเสนอ ครม.พิจารณาในสัปดาห์นี้เพื่ออนุมัติงบการจัดซื้อยา ส่วนการขึ้นทะเบียน อย.สหรัฐกำลังพิจารณา คาดว่าประเทศไทยคงได้ใช้ประมาณ ธ.ค.2564 หรือต้นปี 2565 เมื่อขึ้นทะเบียน อย.ไทยเรียบร้อยแล้ว

ส่วนยาแพกซ์โลวิดมีการหารือรายละเอียดช่วง ส.ค.กับบริษัทไฟเซอร์ แต่ตอนนั้นข้อมูลผลวิจัยยังไม่ออก มีการหารือรอบที่ 2 และลงนามรักษาความลับเมื่อเดือน ต.ค. ขณะนี้มีผลการวิจัยออกมาแล้ว จึงนัดรอบที่ 3 เพื่อหารือวันที่ 12 พ.ย.นี้ ถึงความเป็นไปได้ในการจัดหายามาใช้ ซึ่งขณะนี้ไฟเซอร์คงกำลังดำเนินการคู่ขนานในการยื่นขึ้นทะเบียนกับ อย.สหรัฐ หากมีความก้าวหน้าเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบต่อไป แต่คาดว่าน่าจะจัดหามาได้หลังยาโมลนูพิราเวียร์

เมื่อถามว่ายาทั้ง 2 ตัวนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนในการรักษาโควิดหรือไม่ นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า ยา 2 ตัวนี้ใช้เรื่องรักษาโควิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง หากเอายามาใช้รักษารวดเร็ว หลังมีอาการไม่นาน ผลการรักษาดี ผู้ป่วยเข้ารักษาใน รพ.เสียชีวิตลดลง ช่วยประหยัดการเข้านอน รพ. การใช้ไอซียูและเครื่องช่วยหายใจ หากทำให้คนเข้าถึงยา 2 ชนิดนี้ได้ง่าย อยู่ในบริบทที่ประชาชนคนติดเชื้อสามารถใช้ได้ ก็น่าจะช่วยควบคุมสถานการณ์ได้ดี เป็นความหวังใหม่ของพวกเราทุกคน

ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่ายามีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโควิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรมการแพทย์จะพยายามหาวิธีการให้ได้ยาที่มีคุณภาพมารักษาผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทย แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าประเทศไทยอยู่ใน 90 ประเทศที่สั่งซื้อยาล็อตแรกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เราประสานหารือตั้งแต่เริ่มศึกษาวิจัย ขอข้อมูลวิชาการเป็นระยะ ก็น่าจะทำให้เราเข้าถึงยาอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ได้มาเริ่มตอนที่มียาออกมาแล้ว

“วันนี้เราพูดถึงการใช้ยา แต่โดยหลักการคือควรป้องกันไม่ให้ติดเชื้อหรือมีการแพร่กระจาย โดยเน้นการเข้มมาตรการป้องกันโควิดสูงสุดตลอดเวลา สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ซึ่งยังกังวลใจเรื่องการรับประทานด้วยกันจะถอดแมสก์ และยิ่งใกล้กันก็คุยกัน ฝากว่าหากเราป้องกันดี เราจะไม่ติด ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อยามาใช้รักษา การป้องกันโรคยังสำคัญที่สุด” นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน