จับตาคลัสเตอร์โอมิครอน เหมือนกรณีผัวเมียกาฬสินธุ์ ชี้ตรวจพบแล้ว 205 ราย มาจากต่างประเทศ 180 ราย เผยผลแล็บเชื้อลงปอดเทียบกับเดลตา ไม่มีอาการรุนแรง

วันที่ 24 ธ.ค.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในไทยว่า ขณะนี้พบเชื้อโอมิครอนแล้วใน 106 ประเทศ ซึ่งตัวเลขน่าจะมากกว่านี้ เพราะบางประเทศอาจไม่ได้ตรวจสายพันธุ์ ส่วนสหรัฐอเมริกาพบเกือบครบทุกรัฐแล้ว จากเดิมเป็นเชื้อเดลตาทั้งหมด ล่าสุดพบเป็นโอมิครอนมากกว่า 70% สัดส่วนเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว ทั้งนี้ ยืนยันว่ายังตรวจโอมิครอนพบได้ทั้ง 3 สายพันธุ์ย่อย

จากการติดตามข้อมูลการแพร่ระบาดในต่างประเทศพบว่า แพร่เร็ว อาการไม่รุนแรง เช่น ฮ่องกงทำแล็บด้วยการเอาเชื้อโอมิครอนใส่เข้าไปในหลอดลม พบแพร่ขยายเร็วกว่าเดลตา 70 เท่า แต่พอลงไปถึงปอดที่เป็นจุดอันตรายแก่ชีวิตกลับพบว่า ไม่ค่อยทำลายเนื้อปอดมากเท่าเชื้อเดลตา

ส่วนข้อมูลของอังกฤษที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพบว่า หากเป็นการติดเชื้อในครัวเรือน เดลตามีอัตราแพร่เชื้อ 10.3% โอมิครอนเพิ่มขึ้นเป็น 15.8% ถ้าเป็นแพร่ระบาดในชุมชน เดลตามีอัตราแพร่เชื้อ 3% โอมิครอนเพิ่มเป็น 8.7% ส่วนความรุนแรงพบว่า ติดเชื้อเดลตาเข้าโรงพยาบาล 50% นอนโรงพยาบาลมากกว่า 1 วัน 61% โอมิครอนเข้าโรงพยาบาล 20-25% นอนโรงพยาบาลมากกว่า 1 วัน 40-45% ขณะที่แอฟริกาใต้สถานการณ์ใกล้เคียงกัน โอมิครอนทำให้นอนโรงพยาบาล 2.5% เชื้อตัวอื่น 12.8% โอมิครอนทำให้อาการหนัก 21% เชื้ออื่น 40% แต่ตัวเลขการศึกษายังไม่มากพอ

ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐหรือ CDC พูดว่าคนที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์อื่นก่อนหน้าเท่ากับฉีดวัคซีนโดยธรรมชาติ หรือได้รับวัคซีนรุ่นที่ 1 จะป้องกันเชื้อโอมิครอนได้ไม่มาก แต่ลดอาการรุนแรงลงเทียบกับคนที่ไม่เคยรับวัคซีนหรือไม่เคยติดเชื้อ เพราะฉะนั้นวัคซีนยังช่วยป้องกันความรุนแรง และมีหลายการศึกษาบอกว่าหากฉีดบูสเตอร์โดสจะยกระดับภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ช่วยลดติดเชื้อ ป่วยหนัก ซึ่งไทยมีนโยบายเร่งรัดให้คนรับวัคซีนครบ 2 เข็มไม่ว่าสูตรไหน หากนานเกิน 3 เดือน ควรมาฉีดบูสเตอร์

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในไทยล่าสุดจากการตรวจคนเดินทางมาจากต่างประเทศ และสุ่มตรวจสายพันธุ์ในประเทศรอบนี้ไม่เจอเชื้ออัลฟาและเบตา แต่พบเดลตา 732 ราย และโอมิครอน 142 ราย บวกของเดิม 63 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนในไทยแล้ว 205 ราย ภาพรวมตรวจเกือบพันตัวอย่างเป็นโอมิครอน 16% กทม.อยู่ที่ 40% ภูมิภาค 8% สาเหตุที่ กทม.เยอะเพราะส่งตัวอย่างมาจากที่ กทม. เยอะ

ส่วนที่เคยรายงานเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. พบโอมิครอน 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ ขณะนี้พบ 53% และเริ่มพบคนที่อยู่ภายในประเทศจำนวนหนึ่งประมาณ 3.8% จะเห็นว่าภาพรวมกราฟชันขึ้น หมายความว่าในช่วงเวลาเดียวกันมีการติดเชื้อค่อนข้างเร็ว ซึ่งเป็นหลักการของโรคติดต่อว่าจะมีการแพร่กระจายได้เร็วขึ้นในระยะเวลาถัดไป

สำหรับผู้ติดเชื้อโอมิครอน 205 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 180 ราย คนไทยที่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ 25 ราย แต่ยังเป็นการติดเชื้อที่สัมพันธ์กับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ในจำนวนนี้มีคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดคือ สามีภรรยาที่กาฬสินธุ์ ตรวจพบติดเชื้ออีก 20 ราย รวม 2 สามีภรรยาเป็น 22 ราย โดยยังมี 5 รายที่ตัวอย่างไม่สมบูรณ์กำลังเก็บสิ่งส่งตรวจใหม่ ส่วนคลัสเตอร์อื่นอยู่ระหว่างสอบสวนโรค คือ คลัสเตอร์ 3 รายจากผู้แสวงบุญ มีแม่บ้านในโรงแรมแห่งหนึ่งจำนวน 1 ราย และอีก 1 รายคือภรรยาของนักบินที่รายงานไปก่อนหน้านี้ แต่ย้ำว่ายังไม่มีการติดเชื้อโอมิครอนตั้งต้นในประเทศไทย

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการแพร่เชื้อจากผู้เดินทางจากต่างประเทศ และมีคลัสเตอร์ที่ติดกันเหมือนกรณีกาฬสินธุ์เพิ่มเติมได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเชื้อมีการแพร่ระบาดเร็ว เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ อยากให้ช่วยกันลดความเสี่ยง เราต้องช่วยกันเพื่อยันการติดเชื้อระดับน้อยออกไปให้ได้นานที่สุด แต่สุดท้ายมันก็จะเกิดการแพร่ในประเทศได้ แต่จากหลักฐานเชิงประจักษ์เชื้อโอมิครอนไม่ได้รุนแรง จึงไม่น่าจะต้องวิตกกังวลมากนัก แต่ขอให้ช่วยมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน