สธ. เผย 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ติดเชื้อเริ่มทรงตัว ไม่เพิ่มขึ้น “ชลบุรี” ผ่านจุดสูงสุดแล้ว กำลังลดต่ำลง ย้ำ คลัสเตอร์เดิม ๆ ยังพบเพียบ

วันที่ 17 ม.ค.2565 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 6,929 ราย หายป่วย 5,255 ราย เสียชีวิต 13 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 533 ราย ดูเหมือนมีการยกตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ใส่ท่อช่วยหายใจ 108 ราย ยังไม่ได้เพิ่มมากขึ้น

โดยผู้เสียชีวิต 13 ราย ไม่ได้รับวัคซีนถึง 85% กลุ่มเสี่ยงยังคงเป็นผู้สูงอายุ 100% โดยอายุน้อยที่สุด คือ 69 ปี กทม.ติดเชื้อสูงสุด 722 ราย ตามด้วยสมุทรปราาการ 656 ราย ชลบุรี 454 ราย ภูเก็ต 389 ราย และนนทบุรี 386 ราย หลายส่วนเป็นคลัสเตอร์เดิมและมีต่อเนื่อง

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การรับผู้เดินทางจากต่างชาติเข้ามานั้น ตั้งแต่วันที่ 1-16 ม.ค.2565 เข้ามา 121,645 ราย ติดเชื้อ 4,179 ราย อัตราติดเชื้อ 3.44% เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย.2564 ที่พบอัตรา 0.13% และ ธ.ค.2564 มกราคมพบ 0.45% ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทั่วโลกที่ติดเชื้อเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ประเทศต้นทางที่เดินทางเข้ามามีสถานการณ์ติดเชื้อสูงขึ้น สะท้อนสู่ผู้เดินทาง ซึ่งเราก็ป้องกันอย่างเต็มที่

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า โดยช่วง ม.ค.2565 ประเทศที่มามากที่สุดคือ รัสเซีย 11,232 คน ติดเชื้อ 508 คน อัตรา 4.52% รองลงมาคือ เยอรมนี คือ 7,06 คน ติดเชื้อ 303 คน อัตรา 4.28% แต่หากดูอัตราการติดเชื้อที่สูงสุด คือ ออสเตรเลีย เข้ามา 2,515 คน ติดเชื้อ 180 คน คิดเป็น 7.16% รองลงมาคือ อังกฤษ เข้ามา 6,274 คน ติดเชื้อ 375 คน คิดเป็น 5.96% และสหรัฐอเมริกา เข้ามา 6,531 คน ติดเชื้อ 379 คน คิดเป็น 5.8%

สธ. เผย 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ติดเชื้อเริ่มทรงตัว ไม่เพิ่มขึ้น "ชลบุรี" ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

สธ. เผย 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ติดเชื้อเริ่มทรงตัว ไม่เพิ่มขึ้น “ชลบุรี” ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

แนวโน้มจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวหลังไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมจำนวนการติดเชื้อยังไม่ได้มีลักษณะเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่วันที่ 7-8 ม.ค.เป็นต้นมา ส่วน กทม.สูงขึ้นเล็กน้อย ชลบุรีเหมือนผ่านจุดที่ติดเชื้อสูงสุดและลดต่ำลงมา เช่นเดียวกับภูเก็ต ส่วนสมุทรปราการอยู่ลักษณะคงตัวต่อมาระยะหนึ่ง” นพ.เฉวตสรร กล่าวและว่า คลัสเตอร์ยังอยู่ในกลุ่มร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงงาน ตลาด งานสังสรรค์ พิธีกรรมศาสนา ค่ายทหาร และสถานพยาบาล

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์จริงช่วงแรกไต่ระดับเส้นสีเทาของฉากทัศน์ที่คาดการณ์ แต่เมื่อมีมาตรการเข้มงวดขึ้นในช่วงนี้ ทำให้เส้นสถานการณ์จริงลดลงมาอยู่ในระดับเส้นสีเทา ที่ระบาดแบบกลาง ๆ หรือหากดีกว่านั้นก็ดูจะเข้าใกล้เส้นสีเขียว ที่มีการติดเชื้อน้อยที่สุดของการคาดการณ์ทั้ง 3 รูปแบบ ส่วนเสียชีวิตจริงอยู่ในระดับที่ต่ำสุดของการคาดการณ์

ถามว่าคนที่ทำ HI ครบ 10 วัน ต้องตรวจ ATK ซ้ำ หากพบว่ามีผลบวกอยู่ต้องอยู่บ้านต่อหรือไม่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ตามหลักการรักษา 10 วันแล้ว บางคนตรวจอาจเจอเชื้ออยู่ แนวทางเวชปฏิบัติระบุตลอดว่า เมื่อรักษาครบไม่ได้มีข้อแนะนำว่า จะต้องตรวจให้เจอเป็นลบถึงหาย เพราะการรักษาครบจุดสำคัญคือรักษาจนพ้นช่วงระยะเวลาแพร่เชื้อต่อได้

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาทั่วโลกพบว่าสูงสุดที่เริ่มมีอาการหรือเจอเชื้อผ่านไปประมาณ 8-9 วัน แม้เจอเชื้อก็ไม่มีชีวิตคือตายแล้ว แพร่ต่อไม่ได้ บางคนตรวจอาจเจอซากเชื้อ บางวันตรวจเจอบางวันไม่เจอ จะกลายเป็นข้อกังวล ข้อสำคัญคือรักษาครบถือว่าหาย แต่หายแล้วข้อแนะนำยังต้องป้องกันตนเองครอบจักรวาลตามเดิม

“สถานการณ์การระบาดช่วงปีนี้ เป็นที่คาดหมายว่า จะค่อย ๆ เข้าสู่โรคประจำถิ่น ในทางวิชาการติดตามสถานการณ์ดูข้อมูลทางวิชาการอย่างใกล้ชิด อย่าประมาทในแง่ที่ว่า จำนวนการติดเชื้อบางประเทศเมื่อผ่านจุดสูงสุด ลดลงได้ดีอย่างแอฟริกาใต้ แต่บางประเทศลดลงมาพักหนึ่งแล้วเริ่มขึ้นไป แต่ข้อมูลวิชาการจะชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ข้อมูลโอมิครอนไม่ได้มีผลรุนแรงในแง่เสียชีวิตหรือป่วยหนัก แต่การติดเชื้อมาก ๆ ก็ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขได้ประมาณหนึ่ง ขอให้ใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มัลจะทำให้ปลอดภัยรวมถึงมาตรการ VUCA” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน