ยอดโควิด กทม.เกินพัน 6 วัน เตือน 5 ปัจจัยเสี่ยง ทำระบาดช่วงตรุษจีน เผยคลัสเตอร์ต่างๆ ทั้งโรงงาน ตลาด ร้านอาหาร ค่ายมวยบางกอกน้อย พบกินดื่ม ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.65 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค เป็นตัวแทน ศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,718 ราย หายป่วย 7,659 ราย กำลังรักษา 81,532 ราย ปอดอักเสบ 548 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 114 ราย เสียชีวิต 12 ราย อายุ 50-97 ปี ค่ากลางอายุ 69 ปี เป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวเรื้อรัง 83% มาจากภาคใต้มากสุด 5 ราย ตะวันออก 4 ราย กทม. 2 ราย และอุบลราชธานี 1 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบโดส

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อจริงมีทิศทางหักลงจากเส้นที่คาดการณ์ไว้ คือ สีเทา และสีแดง แต่ยังอยู่ในเส้นคาดการณ์สีเขียว ผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นชัดเจน แต่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ ยังต้องปฏิบัติตนป้องกันโรคเคร่งครัด หากรับครบโดสแล้วควรรับเข็มกระตุ้นด้วย การติดเชื้อจะได้ลดลงต่ำกว่าเส้นสีเขียว และอยู่ร่วมกับโรคได้ ส่วนการเสียชีวิตยังต่ำกว่าที่คาดการณ์สอดคล้องกับสถานการณ์โลก แม้ผู้ติดเชื้อเพิ่มแต่อัตราเสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้น ปัจจัยมาจากการรับวัคซีนครบโดส

“การรับเข็มกระตุ้นสำคัญมาก ไม่ว่ารับยี่ห้อใด ผ่านไป 3 เดือนก็เริ่มลดลงจึงต้องไปรับเพิ่มขึ้น ผลการศึกษาของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ พบว่า การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นลดการป่วยหนักและเข้ารักษาตัวใน รพ.จากโอมิครอนได้ ส่วนไทยเก็บข้อมูลพบว่า การฉีด 3 เข็ม ช่วยเพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อที่เชียงใหม่ไปถึง 96-98% และป้องกันการติดเชื้อโอมิครอน 80-90% ที่กาฬสินธุ์ วัคซีนทุกสูตรยังป้องกันการป่วยรุนแรงเสียชีวิต 90-100% และไม่ว่าสูตรไหนครบ 3 เดือนให้มารับเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกัน” พญ.สุมนีกล่าว

ส่วนการติดเชื้อสูงสุดวันนี้ คือ 1.กทม. 1,269 ราย เกินพันมา 6 วันแล้ว 2.สมุทรปราการ 556 ราย 3.นนทบุรี 411 ราย 4.ภูเก็ต 354 ราย 5.ชลบุรี 314 ราย 6.ขอนแก่น 247 ราย 7.ปทุมธานี 228 ราย 8.เลย 152 ราย 9.นครราชสีมา 144 ราย และ 10.ศรีสะเกษและอุดรธานี จังหวัด 118 ราย

ส่วนการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนมาจากโรงงานสูงสุด พบที่สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี อยุธยา สุโขทัย กาญจนบุรี เน้นย้ำผู้ประกอบการ พนักงานเคร่งครัดมาตรการ COVID Free Setting พบผู้ติดเชื้อจัดการด้วย Bubble&Seal , งานศพเจอที่ขอนแก่นและอุดรธานี งานแต่งที่น่านและศรีสะเกษ , ตลาดพบที่ขอนแก่น เชียงใหม่ มุกดาหาร , ร้านอาหารสถานบันเทิง พบจันทบุรี ร้อยเอ็ด และอุดรธานี , ค่ายทหารตำรวจ ลพบุรี และมุกดาหาร และสถานพยาบาล กทม. 22 ราย นนทบุรี 7 ราย อุบลราชธานี 6 ราย ชลบุรี 5 ราย สมุทรปราการ 5 ราย

“การพบในบุคลากรทางการแพทย์ มีการสอบสวนโรค สว่นใหญ่ติดจากในครอบครัว ญาติสนิท หรือเพื่อน การป้องกันต้องเริ่มจากการที่เราคงเข้มมาตรการส่วนบุคคล แม้จะอยู่ในครอบครัว ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการเคร่งครัด” พญ.สุมนีกล่าว

ส่วน กทม.อันดับ 1 มา 10 วัน สธ. ศบค.ห่วงใย ลงไปสอบสวนคัลสเตอร์ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. มีการรายงานเป็นระยะ ที่ผ่านมามีรายงานพบการติดเชื้อในค่ายมวยเขตบางกอกน้อย พบ 11 คน พบการรับประทานอาหารร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้อุปกรณ์ซ้อมด้วยกัน เช่น นวม เชือกกระโดด เป็นต้น ไม่มีการตั้งจุดแอลกอฮอล์เจล ไม่มีจุดคัดกรองคนภายนอกเข้ามาซ้อมมวย ทำกิจกรรมร่วมกันเวลานานไม่สวมหน้ากากอนามัย ความถี่ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมมีน้อย ตัวอย่างการดำเนินงานที่บอกว่าเราต้องคงความเข้มงวดเรื่อง COVID Free Setting ขอให้สถานประกอบการอื่นๆ ดำเนินการด้วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

“การรับวัคซีนต้องครบทั้งผู้ให้ผู้รับบริการ และก็ยังต้องสุ่มตรวจ ATK เป็นระยะทุกสปดาห์ ปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้แออัด ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง คนในหน่วยงานนั้นๆ แยกของใช้ส่วนตัว ที่พบติดเชื้อเพราะรับประทานอาหารด้วยกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ช่วยลดการแพร่ระบาด” พญ.สุมนีกล่าว

ส่วนตรุษจีนช่วง 28 ม.ค. – 3 ก.พ. ศบค.เห็นชอบการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดช่วงเทศกาลโควิด โดยวิเคราะห์สถานการณ์ที่ทำให้เกิดการระบาดดังนี้ 1.การรวมตัวของญาติพี่น้องเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษ มีการพบปะสังสรรค์ 2.รวมตัวกันในหมู่ญาติมิตรที่บ้าน 3.การเดินทางไปจับจ่ายซื้อของ 4.ไปร้านอาหารเพื่อสังสรรค์ในครอบครัว และ 5.การไปไหว้เจ้าขอพรในศาสนกิจ

“ศาลเจ้า ทั้งตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ศาสนกิจหรือศาลเจ้า จะเป็นสถานที่มีคนจำนวนมาก และถ้ามีความแออัด อากาศปิด จะเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคได้ สถานที่เสี่ยงคนรวมตัวจำนวนมาก ต้องอยู่ภายใต้มาตรการ COVID Frre Setting ให้ดำเนินการตามมาตรการ โดยตรวจติดตามให้สถานที่เหล่านี้ทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด หากมีเวทีต้องมีระยะห่าง 5 เมตร ควบคุมจำนวนคนไม่แออัด 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร และมีการจัดจุดเข้าออกงานให้ชัดเจน ตั้งแอลกอฮอล์เจลให้สะดวก จัดพนักงานควบคุมการดำเนินงานด้วย” พญ.สุมนีกล่าว

พญ.สุมนีกล่าวว่า สธ.และศบค.เป็นห่วงไม่อยากมให้เกิดคลัสเตอร์จากตรุษจีน ขอให้ให้ชีวิตด้วยความปลอดภัยเข้มงวด ใส่หน้ากากตลอดเวล าล้างมือบ่อยๆ ไม่อยู่ในสถานที่แออัดอากาศปิดทึบ แยกของใช้ส่วนตัว และไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับคนที่รับครบโดสเกิน 3 เดือน

ส่วนวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี มีการอนุญาตวัคซีนไฟเซอร์เฉพาะในเด็กฝาสีส้ม ล็อตแรกมาถึงวันที่ 26 ม.ค. นี้ ล็อตนี้จะจัดสรรให้เด็กมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จะต้องได้รับการฉีดที่สถานพยาบาล ล็อตถัดไปดำเนินการผ่านระบบการศึกษา จัดสรรให้เด็กอายุ 11-12 ปีก่อน หรือ ป.6 ให้ทุกจังหวัตามสัดส่วนที่เสนอมาที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และลดหลั่นตามลำดับชั้นคือ ป.5 4 3 2 ต่อไป ขอย้ำว่าวัคซีนเด็ก หลังฉีดสัปดาห์แรกยังไม่ไปร่วมกิจกรรมที่มีการออกกำลังกายอย่างหนัก ให้งดก่อน พยายามให้ลดการเกิดผลข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบให้ได้น้อยที่สุด เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน