กรมวิทย์พบโอมิครอน BA.2 แพร่เร็ว หลายประเทศเริ่มมาแทน BA.1 ไทยพบ 18% แล้ว เฝ้าระวังต่อเนื่อง แต่ยังไม่พบรุนแรงเพิ่ม วิธีตรวจแยก BA.1-BA.2 ง่าย ไม่ต้องถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว
เมื่อวันที่ 15 ก.พ.65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการณ์เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 5-11 ก.พ. จากการตรวจประมาณ 2 พันตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด 1,975 ตัวอย่าง ประมาณ 97.2% เป็นเดลตา 2.8% แสดงว่ายังมีเดลตาหลงเหลืออยู่บ้าง
โดย 10 จังหวัดที่ติดโอมิครอนสูงสุด คือ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น สำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศที่ตรวจพบการติดเชื้อเป็นโอมิครอน 99.4% ให้สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นโอมิครอน ไม่น่าเป็นสายพันธุ์อื่นแล้ว ส่วนในประเทศไทยเองก็สูงขึ้นเรื่อยๆ 96.4% อีกไม่นานก็เข้าใกล้ 100%
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า หลังการระบาดของโอมิครอนค่อนข้างเร็ว และจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก ธรรมชาติไวรัสเมื่อติดเชื้อซ้ำๆ ระบาดค่อนข้างกว้าง ก็ออกลูกหลาน มีโอกาสของการกลายพันธุ์ จากเดิมกำหนดไว้ตั้งแต่ต้น B.1.1.529 แต่เมื่อมีสายพันธุ์ย่อยมากขึ้น จึงเรียกว่า BA.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเดิม ทั่วโลกมีการตรวจส่งเข้าฐานข้อมูลโลก GISAID ประมาณ 617,256 ตัวอย่าง ส่วน BA.2 ประมาณ 5.4 หมื่นกว่าตัวอย่าง BA.3 ประมาณ 297 ราย
BA.2 มาทีหลังประมาณปลาย ธ.ค.เริ่มตรวจพบ ในไทยก็ตรวจพบรายแรกๆ ช่วงต้น ม.ค. ทั้ง BA.1 และ BA.2 ลักษณะการกลายพันธุ์เหมือนกัน 32 ตำแหน่ง ต่างกัน 28 ตำแหน่ง มาร์กเกอร์สำคัญของ BA.2 หากโอมิครอนควรจะมีการหายไปของตำแหน่ง delta69-70 แต่ BA.2 กลับมาไม่หายไป แต่ไม่เป็นประเด็นมีวิธีตรวจจับได้
ขณะนี้พบ BA.2 ที่มีการส่งข้อมูลเข้า GISAID ประมาณ 57 ประเทศ แนวโน้มที่จะแทน BA.1 เช่น อินเดีย เดนมาร์ก และสวีเดน เป็นต้น อย่างเดนมาร์ก พบ BA.2 มากกว่า BA.1 ต้องเฝ้าจับตาดู ส่วนไทยยังพบ BA.1 มากกว่า แต่อนาคตหากแพร่เร็วก็จะเบียด BA.1 ในที่สุด
คำถามเหมือนสากลว่า ถ้ามีสายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์ย่อยใหม่ ต้องถามว่าแพร่เร็วขึ้นไหม หลบวัคซีนไหม ทำให้เจ็บป่วยรุนแรงมากกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งข้อมูลการแพร่เร็วเริ่มเห็นสัญญาณ เช่น เดนมาร์กที่เบียดของเดิม แสดงว่าแพร่เร็วกว่า ส่วนความรุนแรงและหลบวัคซีน อาจดูได้เฉพาะตำแหน่งที่กลายพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีข้อแตกต่างมากนักเมื่อเทียบกับ BA.1 แต่ต้องติดตามดูข้อมูล โดยเฉพาะป่วยรุนแรงในสนามจริงว่า BA.2 รุนแรงมากกว่าแค่ไหน ส่วน BA.1 ระบาดกว้างขวางมาก ก็ขยับไป BA.1.1 อีกซึ่งเราตรวจจับได้ในไทยเช่นกัน
วิธีการตรวจนั้น ขณะนี้ตัวใหญ่ๆ คือ โอมิครอนและเดลตา การตรวจชั้นเบื้องต้นสามารถตรวจได้ โดยตรวจ G3339D ถ้าเจอแสดงว่าเป็นโอมิครอน แต่ยังแยก BA.1 และ BA.2 ไม่ได้ แต่เดลตาจะไม่เจอตำแหน่งนี้ หาก G3339D บวกก็เป็นโอมิครอน ลบก็เป็นเดลตา
จากนั้นก็จะมาตรวจการหายไปของตำแหน่ง delta69-70 ถ้าหายไปก็เป็น BA.1 ถ้าไม่หายไปเป็น BA.2 ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราตรวจได้เร็วขึ้น ไม่ต้องตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ที่ต้องใช้เวลา 7-10 วัน เรากำลังพัฒนาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างจังหวัดสุ่มตรวจ เพื่อรู้สถานการณ์ BA.2 เร็วขึ้น
ข้อมูลสัปดาห์ที่ผ่านมาจากพื้นที่ต่างๆ ของไทยและต่างประเทศใน 1,975 รายที่เป็นโอมิครอน เราไม่ได้แยก BA.1 และ BA.2 ประมาณ 1.4 พันราย เราแยกจริงๆ คือ 567 ราย โดยพบว่า BA.2 ประมาณ 18.5% ในภาพรวมทุกกลุ่ม เจอ BA.1 ประมาณ 81.5% เราเจอกลุ่มที่มาจากต่างประเทศเป็น BA.2 มากกว่าเล็กน้อย แต่ไม่มีนัยสำคัญ เป็นสถานการณ์ค่อนข้างปัจจุบัน แต่ยังมีข้อจำกัด เพราะบางศูนย์ยังไม่ได้ดำเนินการตรวจ
ส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวมีประมาณ 500 กว่าตัวอย่าง แต่เป็นคนละช่วงเวลา เพราะต้องใช้เวลาในการตรวจ ซึ่งเราถอดออกมาเป็น BA.2 ประมาณ 2% ที่เหลือเป็น BA.1 และ BA.1.1 ถ้าข้อมูลถูกทั้งคู่ แปลว่า BA.2 เริ่มเพิ่มขึ้น เพราะการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัวเป็นการตรวจก่อนหน้า โดยจะต้องดูสัปดาห์ถัดๆ ไปว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
“สรุปโอมิครอนเป็นเจ้าตลาด แทนเดลตาเกือบทั้งหมด การแพร่เร็วติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ย่อย หรือเป็นตัวใหม่ก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นตัวใหม่ ถ้ามีก็ต้องดูว่ามีปัญหามากขึ้นหรือไม่ สำหรับสายพันธุ์ย่อย BA.2 ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวได้ 2% กว่า แต่การตรวจ
เบื้องต้นสุ่มบางพื้นที่เจอ 18% ก็ต้องตรวจให้ครอบคลุมมากขึ้น จะเห็นสัดส่วน BA.2 แท้จริงในไทย มีหลักฐานอยู่บ้างว่าแพร่เร็วกว่า BA.1 แต่ความรุนแรงยังไม่มีข้อมูลมากพอว่ามากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อมีจำนวนพอสมควร ก็จะติดตามอาการทางคลินิกของคนที่เป็น จะส่งข้อมูลให้กรมการแพทย์ติดตามดูว่า BA.2 คนติดมีอาการรุนแรงแค่ไหน” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังช่วยป้องกันการติดเชื้อและป่วยหนักเสียชีวิตได้ ไม่ว่า BA.1 หรือ BA.2 สนับสนุนให้คนฉีดครบ 2 เข็มแล้วในระยะสมควรมาฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อลดโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต สำหรับ BA.2 แพร่เร็วกว่ากี่เท่ายังบอกไม่ได้ เพราะไม่ได้เปลี่ยนเร็ว เราจะตามดูเป็นสัปดาห์ๆ ไป สูงสุดตอนนี้ 18% ถ้าสัปดาห์หน้า 30-40% ก็แสดงว่าเร็ว แต่ในระดับโลกเราเห็น BA.2 จากเดิม 1-2% ตอนนี้เป็น 8-9% แสดงว่าสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิมนิดหน่อย ต้องตามดูใกล้ชิด ถ้าแพร่เร็วแล้วไม่มีอิทธิฤทธิ์ก็ไม่มีความหมาย
นพ.บัลลังก์ อุปพงศ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตอนนี้เรามีตัวอย่าง BA.1 และ BA.2 ก็จะทำการตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน โดยเอาเชื้อจริงมาเพาะเชื้อ และเอาซีรัมอาสาสมัครมาสู้กัน เพื่อดูว่า การฉีดเข็มกระตุ้นสูตรต่างๆ ได้ผลดีกับ BA.1 และ BA.2 หรือไม่
เมื่อถามถึงกรณีอังกฤษยืนยันว่าตรวจพบ Deltacron นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ก่อนหน้านี้กรณีไซปรัส เป็นการปนเปื้อนเชื้อโอมิครอนและเดลตา เพราะโอมิครอนเหมือนกัน แต่เดลตาสายพันธุ์ย่อยแตกต่างกันในแต่ละตัวอย่าง ซึ่ง GISAID ได้ถอดออกไปแล้ว ส่วนกรณีของอังกฤษให้รอข้อมูลยืนยันจากทาง GISIAD