โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 พ่นพิษ ทำยอดโควิดพุ่ง ชี้แพร่ไว แต่ไม่รุนแรง คาดสิ้น ก.พ. ระบาดลดลง ยันยังไม่พบเดลตาครอนในไทย

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2565 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศูนย์จีโนมฯ ได้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งตัวจากสิ่งส่งตรวจพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ช่วง ม.ค.-ก.พ.65 จำนวน 192 ตัวอย่าง พบเป็นโอมิครอน BA.1 จำนวน 169 ราย หรือ 88%, BA.1.1 จำนวน 5 ราย หรือ 5%, โอมิครอน BA.2 จำนวน 2 ราย หรือ 1.05%, เดลตา AY 85 จำนวน 14 รายหรือ 7.3% และ อัลฟาจำนวน 2 ราย หรือ 1.04% แต่หากเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำยังพบเป็นเดลตาเกือบ 100%

ขณะที่ฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISIAD ช่วง 40 วันที่ผ่านมาที่สถาบันการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชนในประเทศไทยถอดรหัสพันธุกรรมและอัปโหลดเข้าไป พบเป็นโอมิครอน BA.1.1 จำนวน 60% ขณะที่ BA.1 หรือตัวแม่เดิมลดลงเหลือ 19% BA.2 จำนวน 2% เดลตา AY85 จำนวน 14% ทั้งนี้ BA.1.1 เป็นการแตกกิ่งก้านจากสายพันธ์ุหลัก BA.1 เล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลก่อให้เกิดอะไรมากขึ้น

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ ระบุอีกว่า โอมิครอน BA.2 ในไทยขณะนี้น่าจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลที่ติดตามพบคุณสมบัติ BA.2 มีการกลายพันธ์ุมากที่สุด จึงส่งผลต่อการแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อได้ไวที่สุด แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคหรือเสียชีวิตต่างจากโอมิครอนหลัก ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยผู้ป่วย 1 คนจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นหรือค่า R-0 สายพันธ์ุอู่ฮั่นอยู่ที่ 2.5, เดลตา 6.5-8 โอมิครอน BA.1 อยู่ที่ 8-15 แต่ BA.2 อาจจะถึง 18 เพราะไวมาก แต่การติดเชื้อไวในระยะหลังจะเห็นว่าไม่ได้แปรไปตามความรุนแรง

ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นโอมิครอนมากที่สุดขณะนี้คือ เดนมาร์ก ตามด้วยอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ส่วนแอฟริกาใต้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงไปมาก ส่วนอัตราเสียชีวิตจากโอมิครอนก็ต่ำกว่าเดลตา อัลฟาอย่างมาก

สำหรับประเทศไทย โอมิครอนเข้ามาประมาณ ก.พ. ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเป็น BA.1 แต่อัตราผู้เสียชีวิตน้อยมาก เพราะมีการฉีดวัคซีนมาก รวมถึงมีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปค้นหาช่วยเหลือผู้ป่วยเชิงรุก แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นขณะนี้มาจาก BA.2 ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น คาดว่าไม่เกินครึ่งเดือนหรือประมาณปลาย ก.พ.ตัวเลขน่าจะลง เทียบเคียงจากประเทศอื่นๆ ที่มีสถานการณ์ระบาดมาก่อน

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า ส่วนเดลตาครอน ลูกผสมระหว่างโอมิครอนและเดลตา ในอังกฤษได้ประกาศเป็นเอกสารยืนยันว่าพบเดลตาครอนที่ให้จับตา ไม่มีการระบุจำนวนชัดเจน แต่น่าจะพบมากกว่า 1 ราย แต่ยังไม่พบความรุนแรงในการก่อโรค หรือหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากกว่าโอมิครอน เนื่องจากลูกผสมเดลตาครอนตัวนี้เป็นการนำชิ้นส่วน ยีน ORF1ab จากเดลตา ที่ไม่ได้ก่อความรุนแรงโรค ขณะที่จีโนมส่วนอื่นเช่นส่วนที่สร้างหนามแหลม (ยีน S) และส่วนที่สร้างอนุภาคไวรัสส่วนอื่นๆ เช่น ยีน N ได้มาจากโอมิครอน BA.1

ดังนั้น คุณสมบัติหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างจากโอมิครอน จึงยังไม่พบอาการทางคลินิกที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงโรคมากขึ้น ส่วนไทยยังไม่พบเดลตาครอน ทั้งนี้ เดลตาครอนที่พบในอังกฤษไม่รุนแรง แต่หากเป็นที่อื่นซึ่งอนาคตจะพบหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ว่าจะรุนแรงหรือไม่








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน