ศบค. รายงาน โควิดวันนี้ ยังทรงตัว ติดเชื้อ 2.1 หมื่นราย รวม ATK เป็น 4.5 หมื่นราย เผย 10 จังหวัดติดเชื้อสูง ดับวันนี้สูงสุดในระลอก โอมิครอน 65 ราย

วันที่ 7 มี.ค.2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค เป็นตัวแทนศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจ RT-PCR 21,162 ราย ตรวจ ATK อีก 24,236 ราย รวม 45,398 ราย ถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว

จำนวนผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 102 ราย กำลังรักษา 230,459 ราย แยกรักษาที่บ้านและชุมชน 161,493 ราย ใน รพ. 68,996 ราย มีอาการหนัก 1,148 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 375 ราย นอกนั้นถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 67,818 ราย เป็น 98.3% ซึ่งสามารถแยกกักรักษาที่บ้านหรือชุมชนได้ ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลคัดกรองคนอาการน้อยรักษาที่บ้าน เพื่อสงวนเตียงให้คนอาการปานกลางถึงหนัก

สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ถือว่ามีจำนวนสูงขึ้น จากการมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยวันนี้เสียชีวิตสูงสุดในการระบาดระลอกนี้ 65 ราย ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 49 รายต่อวัน ส่วนติดเชื้อรายวันที่เป็นขาขึ้นนั้น เป็นแบบทรง ๆ ไม่ได้กระฉูดมาก

ส่วน 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด ได้แก่

  • 1.กทม. 2,803 ราย
  • 2.นครศรีธรรมราช 1,042 ราย
  • 3.สมุทรปราการ 872 ราย
  • 4.ชลบุรี 784 ราย
  • 5.นนทบุรี 723 ราย
  • 6.สมุทรสาคร 659 ราย
  • 7.นครราชสีมา 614 ราย
  • 8.ภูเก็ต 592 ราย
  • 9.นครปฐม 589 ราย
  • 10.พระนครศรีอยุธยา 567 ราย

นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังคือตามขอบแนวชายแดน คือ ตากและสระแก้ว ช่วง 2-3 วันมานี้ ตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้มีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาตามขอบชายแดนมากขึ้น ขอความร่วมมือคนในพื้นที่เป็นหูเป็นตา ขอให้ช่วยกันแจ้ง นำมาคัดกรองไม่ให้แพร่ระบาดเพิ่มขึ้น

สำหรับ กทม.รายงานคลัสเตอร์ใหม่ คลัสเตอร์ก่อสร้างเขตคลองสามวา 5 เขต พบติดเชื้อสูงสุดคือ หลักสี่ 470 ราย, บางซื่อ 187 ราย, หนองแขม 67 ราย, วัฒนา 44 ราย และดินแดง 38 ราย








Advertisement

สถานการณ์เตียงทั่วประเทศ ครองเตียงรวม 57.8% การระบาดของโอมิครอนเน้นรักษาอาการปานกลางถึงหนักหรือเตียงเหลืองและแดง โดยเตียงเหลืองระดับ 2.1 อยู่ที่ 25.1% เตียงเหลืองระดับ 2.2 อยู่ที่ 15.1% เตียงแดง 25%

ผู้เสียชีวิตวันนี้ 65 ราย เป็นยอดสูงสุดในระลอกนี้ อายุเฉลี่ย 75 ปี มากกว่า 50 ปีถึง 91% และผู้เสียชีวิต 97% เป็นสูงอายุและมีโรคเรื้อรัง อยู่ในภาคใต้มากสุด 17 ราย กลาง 15 ราย อีสาน 12 ราย ปริมณฑล 8 ราย กทม. 7 ราย และเหนือ 6 ราย พบว่า 65% ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว 6% รับเข็มเดียว 18% รับ 2 เข็มเกิน 3 เดือน 3% รับเข็มสองไม่เกิน 3 เดือน และ 8% ได้ 3 เข็มไม่เกิน 2 สัปดาห์ โรคเรื้อรังของผู้เสียชีวิตที่พบบ่อย คือ มะเร็งระยะสุดท้าย โรคไตวายเรื้อรัง ภาวะติดเตียง และอ้วน อาจต้องไปศึกษาเพิ่มเติม เพราะพบในเสียชีวิตทุกวัน

การวิเคราะห์จำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน 15 ก.พ.-4 มี.ค. การระบาดของโอมิครอนเทียบเดลตา จำนวนเสียชีวิตน้อยกว่า ปัจจัยลดเสียชีวิตคือการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ประเทศที่รับเข็มกระตุ้น 60% คือ อังกฤษ เยอรมนี และเกาหลีใต้ ทำให้การเสียชีวิตน้อย สอดคล้องกับข้อมูลของกรมควบคุมโรค คือ การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะเสียชีวิตน้อยกว่าคนนับ 2 เข็ม 7 เท่า ลดการเสียชีวิต 41 เท่าเทียบกับคนไม่ได้รับวัคซีนเลย ซึ่งยังมีในไทย 2 ล้านกว่าราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน