วอนมัสยิด ช่วงศีลอด รอมฎอน คุมเข้ม หวังปลอดโควิด ขอมีมาตรการรองรับ ทุกขั้นตอน ป้องกันการแพร่ระบาด ก่อนปฏิบัติศาสนากิจ ควรรับวัคซีนตามเกณฑ์

วันที่ 30 มี.ค.2565 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการร่วมพิธีถือศีลอดเดือนรอมฎอนให้ปลอดภัยจากโควิด 19 ว่า ช่วงการถือศีลอดเดือนรอมฎอนเป็นพิธีสำคัญของศาสนาอิสลาม การประกอบพิธีกรรมหลายอย่างช่วงเวลานี้ อาจมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด เนื่องจากมีการวมกลุ่มคน การมีกิจกรรมร่วมกัน จึงต้องการเตรียมชุมชนและมัสยิดให้สอดคล้องและปลอดภัยกับช่วงเดือนรอมฎอนที่จะถึง

โดยก่อนปฏิบัติศาสนกิจ ควรรับวัคซีนตามเกณฑ์ ประเมินตนเอง ยึดถือปฏิบัติและกำกับตลอดการทำกิจกรรม ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ประเมินความเสี่ยงตัวเองเสมอ ทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังปฏิบัติศาสนกิจ และหากมีความเสี่ยงให้ตรวจ ATK และใช้เวลาน้อยที่สุดตามความเหมาะสมในการปฏิบัติศาสนกิจ

ด้านนายสุธรรม บุญมาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า หากเห็นจันทร์เสี้ยวหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันที่ 2 เม.ย. จะนับวันที่ 3 เม.ย. เป็นวันแรกของการถือศีลอด หากไม่มีผู้เห็นจันทร์เสี้ยว จะเริ่มวันที่ 4 เม.ย. เป็นเริ่มต้น ทั้งนี้ ย้ำว่าขอให้ปฏิบัติถือศีลอดอย่างระมัดระวัง การจะให้ได้บุญอย่างมาก ต้องไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนอันตรายต่อตัวเองและสังคมโดยรวม

ทั้งนี้เดือนรอมฎอนจะมีการรวมตัวกันหลายครั้ง เริ่มจากการร่วมรับประทานอาหารยามดึก เพื่อตระเตรียมถือศีลอด การรับประทานอาหารร่วมกัน หากอยู่บ้านเดียวกันไม่มีปัญหา แต่หากไปทำงานต่างจังหวัดและกลับมาร่วมละศีลอดกับทางบ้าน ต้องรักษามาตรการ แยกรับประทานอาหารเป็นสัดส่วน ไม่ใช้ภาชนะรวมกัน

ส่วนการรวมตัวเพื่อประกอบศาสนกิจในการละหมาด ถือเป็นการทำกุศลกิจรูปแบบอดิเรกกิจ สามารถทำที่บ้านก็ได้ หากมีความจำเป็น แต่ถ้ามัสยิดมีความพร้อม คนไปปฏิบัติก็พร้อมปฏิบัติตามมาตรการเคร่งครัด ก็ไปมัสยิดได้ โดยต้องตระเตรียมสถานที่ มาร์กจุดให้ผู้ทำยืนตามจุดที่กำหนดเอาไว้ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หากมัสยิดมีสถานที่อยู่นอกบริเวณสามารถปฏิบัติศาสนกิจภายนอกได้ หากต้องทำในตัวมัสยิดขอไม่ให้เปิดแอร์

จากนั้นจะมีการรวมตัวอีกครั้งในการรับประทานเพื่อละศีลอด โดยมัสยิดทำอาหารเลี้ยงและมาร่วมรับประทานอาหารเพื่อละศีลอด ที่เราห่วงคือการมารวมตัวกันจำนวนมาก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการอาจเกิดการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว จึงขอให้มัสยิดจัดอาหารเฉพาะบุคคล ไม่ใช้ภาชนะปะปนกัน หรือให้ปรุงอาหารใส่ถุง นำไปแจกตามบ้านจะดีที่สุด

ส่วนการละหมาดยามค่ำคืน เป็นอดิเรกกิจเช่นกัน สามารถทำที่บ้านได้ หากทำที่มัสยิดก็ต้องมีมาตรการเช่นกัน ส่วนวันหลังถือศีลอด 29-30 วัน มีการเฉลิมฉลอง คือ วันอีดิ้ลฟิตร์ เป็นการปฏิบัติอดิเรกกิจทำที่บ้านได้ หากมาทำที่มัสยิดก็ต้องเตรียมความพร้อมทำตามมาตรการ โดยแนะนำให้ดำเนินการในสถานที่โล่งกว้างหากมี ใช้เวลาปฏิบัติให้เหมาะสมน้อยที่สุด จะได้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาด ส่วนผู้สูงอายุหรือเด็กยังไม่สมควรจะมาละหมาดร่วมกันที่มัสยิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน