กรมควบคุมโรค เผยสงกรานต์เปิดวอล์กอินฉีดในผู้ใหญ่ที่ รพ.สต.ใกล้บ้าน เด็กเล็กเน้นฉีดในโรงเรียน ยังไม่พบข้อมูลหญิงท้องติดโควิด คลอดลูกออกมาอวัยวะปอด-หัวใจเล็ก

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.65 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีการติดเชื้อโควิด 19 ในเด็กเล็กว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อในเด็กเล็ก หากเทียบอัตราการติดเชื้อก็ไม่ต่างจากในผู้ใหญ่ แต่ที่แตกต่างคืออัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำกว่าผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคสมอง เป็นต้น

ดังนั้น การฉีดวัควีนเด็กแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.ฉีดในโรงเรียน ฉีดเป็นกลุ่มใหญ่ได้รวดเร็ว และ 2.ฉีดที่ รพ. ซึ่งกำหนดฉีดในเด็กที่มีอาการป่วยต่างๆ ที่มีความเสี่ยงจะเสียชีวิต ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกที่โรงเรียนก็ไปที่ รพ. โดยให้ปรึกษากับแพทย์ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้เป็นทางเลือกที่วางไว้ แต่เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและเข้าถึงบริการมากขึ้น ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะฉีดให้

เมื่อถามต่อว่า ตามนโยบายที่ช่วงสงกรานต์ให้วอล์กอินฉีดวัคซีนได้เลย รวมถึงกรณีเด็กเล็กที่ยังต้องเร่งฉีดในเข็มที่ 2 ด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่เปิดวอล์กอินคือผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มแรก ส่วนเด็กเราอยากให้ฉีดที่โรงเรียน จะรวดเร็วและพร้อมกัน ส่วนหากจะต้องไปต่างประเทศ หรือช่วงนั้นที่ต้องฉีดที่โรงเรียนแล้วไม่อยู่ ก็ให้ไปปรึกษาแพทย์ที่ รพ. เนื่องจากวัคซีนเด็กเล็กเป็นวัคซีนเฉพาะ โดย 1 ขวดฉีดได้ 6 โดส หากมา 1 คนแล้วต้องทิ้งอีก 5 โดส ก็อาจรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะนัก ก็ดูเป็นรายๆ ไป เปิดทางเลือกให้ยืดหยุ่นได้ แต่ให้ดูความจำเป็นแต่ละฝ่ายประกอบกัน

สำหรับประชาชนทั่วไปช่วงสงกรานต์ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ก็สามารถวอล์กอินทั้งตัวเองหรือผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนที่ รพ.ใกล้บ้านได้ ซึ่งกรมควบคุมโรคส่งวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีเทา ซึ่ง 1 ขวดฉีดได้ 6 โดส ลงไปถึง รพ.สต.แล้ว อย่างไรก็ตาม ควรสอบถาม รพ.สต.ใกล้บ้านก่อนว่าพร้อมให้บริการหรือไม่ เนื่องจากช่วงสงกรานต์ รพ.สต.ก็มีภารกิจหลายอย่าง ทั้งอุบัติเหตุ โควิด ก็ให้ประสานกันก่อน

“การฉีดวัคซีนครอบคลุมได้มาก แม้จะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ได้ 100% แต่ก็ป้องกันได้ส่วนหนึ่ง ส่วนตอนนี้ไม่มีมาตรการอะไรป้องกันได้ 100% ถ้าเราใช้หลายมาตรการร่วมกัน โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การระบาดก็จะทำให้ความรุนแรงหรือตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงได้ ก็จะสะท้อนถึงผู้เสียชีวิตและป่วยหนักที่จะลดลงได้ ก็คงใช้หลายมาตรการร่วมกัน” นพ.โอภาสกล่าว

ถามต่อว่ากรณีหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด เมื่อคลอดลูก เด็กมีอวัยวะเล็ก เช่น ปอดเล็ก หัวใจเล็ก เป็นต้น นพ.โอภาสกล่าวว่า ตอนนี้ข้อมูลทางการยังไม่มี เนื่องจากยังไม่มีผู้รวบรวม โดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้คงค่อยๆ ออกมา แต่ข้อมูลรายบุคคลก็ต้องไปดูว่าการคลอดนั้นเป็นอย่างไร คลอดก่อนกำหนดหรือไม่ แต่ก็มีข้อมูลหนึ่งช่วงโอมิครอน ถ้าสังเกตจะพบว่าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเสียชีวิตน้อยกว่าตอนเดลตาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเราพยายามสอบทานสาเหตุพบว่า คนท้องช่วงนี้ผ่านการฉีดวัคซีนมาเยอะแล้ว วัคซีนก็ป้องกันได้ส่วนหนึ่ง ส่วนผลกระทบแทรกซ้อนระยะกลางและระยะยาวต้องไปดูอีกครั้ง

 








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน