‘หมออุดม’ ชี้ โควิดไทย ถึงช่วง ‘ขาลง’ เร็วกว่าที่คิด หนุน ปลดล็อกเข้าปท. ฟื้นเศรษฐกิจ รับยังห่วงช่วงเปิดเทอม เด็กฉีดวัคซีนน้อย

วันที่ 22 เม.ย.65 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวก่อนการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ถึงการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ ว่า เราต้องดูสถานการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่ายอดผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ ปรากฏว่าประชาชนให้ความร่วมมือดีมาก ตอนนี้จึงต่างจากที่คาดการณ์ไว้เยอะ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจ RT-PCR อยู่ที่ 2.1 หมื่นราย หากรวมกับการตรวจเชื้อแบบ ATK จะอยู่ที่ 4-5 หมื่นราย

ซึ่งเราเคยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้หลายเท่า แต่ปรากฏว่าไม่ขึ้น อีกทั้งเรามีคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศเพียง 1.9 แสนราย แสดงว่าอาการของคนไข้ไม่ได้หนัก คนไข้ที่ต้องใช้เตียงผู้ป่วยระดับสีเหลืองและระดับสีแดง รวมกันใช้ไปเพียง 25% ของเตียงทั้งหมด ถือว่าน้อยมาก

โดยรวมจึงอยากสรุปว่า คนไข้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้มากขึ้น และลดลงด้วย ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์หลังจากเทศกาลสงกรานต์ จึงคิดว่าแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง ดีกว่าที่เราคาดการณ์ไว้

นพ.อุดม กล่าวว่า ส่วนที่ยังมีความกังวลเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต ที่ยังมีตัวเลขประมาณ 120 ราย ตนอยากให้ดูตัวเลขกันใหม่ เพราะหากเทียบกับจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าโรงพยาบาล อยู่ที่ 0.29% หากนับผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดอยู่ที่ 0.67% เมื่อเทียบกับทั่วโลกเรายังต่ำกว่าเขา จึงเป็นช่วงขาลง และลงเร็วกว่าที่เราคิด แต่หากจะเอาให้ชัวร์ต้องรอให้ถึงสิ้นเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วง 14 วันหลังเทศกาลสงกรานต์ ที่พ้นระยะฟักตัว และเชื่อว่าตัวเลขไม่น่าจะขึ้นแล้ว

นพ.อุดม กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์ โควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง เราต้องมานึกถึงเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจของเราตอนนี้ฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น และตนคิดว่าหากเราช้าไปอีก 1-2 เดือน ถือว่าเสียโอกาส แม้ที่ผ่านมาตนจะเน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก แต่ตอนนี้ช่วงที่ไม่ได้มีผู้ป่วยมาก ประกอบกับคนไทยรู้จักระมัดระวังตัวเอง จึงคิดว่าทุกอย่างต้องผ่อนคลาย เพราะรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว

เดิมเราตั้งใจว่าจะผ่อนคลายในช่วง มิ.ย. หรือ ก.ค. ตนคิดว่าจะทำให้เสียโอกาส ใจตน วันที่ 1 พ.ค. อยากให้ผ่อนคลายมาแล้วและได้มีการคุยกันที่กระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว เพียงแต่ไม่กล้าตัดสินว่าจะเลิกตรวจทุกอย่างไปเลย และอยากให้มีการตรวจ ATK สัก 1 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อเดินทางเข้าประเทศ สามารถทำได้เองไม่ยุ่งยาก

อีกทั้งผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมีอัตราการติดเชื้อน้อย และแนวโน้มหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการหมดแล้ว แต่ย้ำว่าแม้จะผ่อนคลายประชาชนต้องระวังตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ยืนยันว่าต้องผ่อน

นพ.อุดม กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่กังวลคือ ในเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงเปิดเทอม แต่การฉีดวัคซีนในเด็กทำได้เพียงครึ่งหนึ่ง ตนคิดว่าเราไม่ควรมานั่งปิดโรงเรียน ต้องเปิดเรียนแบบปกติ ไม่เช่นนั้นเด็กจะเสียโอกาส เพียงแต่ขอร้องให้ผู้ปกครองพาเด็กไปฉีดวัคซีนเพราะสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้จริง ตัวเองให้ดีที่สุด และโรงเรียนต้องพยายามทำCOVID-Free Settingให้ดีที่สุด

หากจะเปิดทุกอย่าง สิ่งที่กังวลคือคนที่จะเจ็บป่วยรุนแรง ตอนนี้เรามียาตัวใหม่ที่จะได้ผลจริง คือยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพ็กซ์โลวิด ตอนนี้ตนกำลังกระตุ้นให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำเข้ามาให้ได้โดยเร็ว เพราะสามารถช่วยคนในกลุ่ม 608 ดีกว่ายาฟาวิพิราเวียร์

ขณะนี้อนุมัติหลักการไปแล้ว แต่กระบวนการช้า ส่วนยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว Long- Acting Antibody (LAAB) สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถกระตุ้นภูมิด้วยวัคซีนได้ ว่าอยากให้ทำความเข้าใจว่า ใช้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เข้ามาแทนวัคซีน ไม่คุ้มค่า แต่ได้ประโยชน์ในกลุ่มคนที่กระตุ้นภูมิไม่ขึ้น

นพ.อุดม กล่าวว่า วันนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ โดยเริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม หากฉีดวัคซีน 3 เข็มจะให้ตรวจ ATK 1 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง กรณีที่ฉีดไม่ครบ 3 เข็ม ให้กักตัว 5 วัน และสังเกตตัวเองต่ออีก 5 วัน ส่วนกรณีที่ไม่ฉีดวัคซีนเลย ให้กักตัว 14 วัน นอกจากนี้จะเสนอที่ประชุมศบค. พิจารณาลดหรือเลิกวงเงินประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งต้องรอดูว่าที่ประชุมจะอนุมัติหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน