สธ.แจงตัวเลข “โควิด” ลดลงจริง ทั้งตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ และเข้าระบบลงทะเบียนรักษา เดิม 6-7 แสนรายต่อสัปดาห์ เหลือเกือบ 5 แสนราย แต่หลายจังหวัดอีสานยังติดเชื้อสูง ต้องติดตามต่อเนื่อง

ส่วนยอดดับแยกนับเฉพาะปอดอักเสบจากโควิดตาย ให้สอดคล้องสถานการณ์จริง และวางมาตรการรักษาในอนาคตให้เหมาะสม ย้ำครองเตียงลดลงแต่ไม่สำคัญเท่าวัคซีน ช่วยลดรุนแรงและดับได้

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยรายงานผู้ติดเชื้อจาก RT-PCR 9,331 ราย ถือว่าลดลงค่อนข้างมากจากหลายสัปดาห์ก่อนที่รายงานเกือบ 2 หมื่นราย

ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจแนวโน้มลดลงต่อเนื่องแบบช้าๆ ผู้เสียชีวิตวันนี้ 84 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน หรือรับเข็มเดียว 66% รับ 2 เข็มเกิน 3 เดือน 24% ย้ำว่าวัคซีนลดความรุนแรงของโรคลงได้

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่อายุ 70 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรังเป็นหลัก จึงจำเป็นที่จะต้องรับวัคซีนให้ครบ 2 เข็มและเข็มกระตุ้น เพื่อให้มั่นใจมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันช่วยการดูแลป่วยหนัก โดยภูมิภาคที่มีปัญหาเสียชีวิตมาก คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ส่วนรักษาหายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องวันนี้ 2.1 หมื่นราย กำลังรักษาใน HI CI รพ.สนาม 94,900 ราย อยู่ใน รพ.34,168 ราย นอกจากนี้ ยังมีการติดตามสถานการณ์จากข้อมูลอีกชุดของ สปสช. คือ ผู้ติดเชื้อที่เข้าสู่ระบบการรักษาทั้งผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) หรือโทรขอเข้าระบบรักษาที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นการตรวจ ATK มีการรวมข้อมูล RT-PCR บางส่วน ซึ่งข้อมูลสัปดาห์ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ติดเชื้อเข้าระบบลงทะเบียน 498,578 ราย เฉลี่ย 4-6 หมื่นรายต่อวัน

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ถามว่าการติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงจริงหรือไม่ ในส่วนของการติดเชื้อ เนื่องจากโอมิครอนส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หลายคนอาจรักษาเองไม่ได้รายงานเข้าระบบ ซึ่งมีจำนวนหนึ่งแต่ไม่เยอะมาก ซึ่งข้อมูลติดเชื้อเข้าระบบลงทะเบียนรักษาสัปดาห์ที่ผ่านมาเกือบ 5 แสนราย

ก็ถือว่าลดลงจากเดิม 6-7 แสนราย ก็สะท้อนสถานการณ์จริง แต่ดูรายจังหวัดพบว่า การระบาดยังค่อนข้างมากอยู่แถบภาคอีสาน ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกลดลงพอสมควร เมื่อเทียบกับหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้








Advertisement

ส่วนการเสียชีวิตนั้นต้องชี้แจงว่าสมัยเดลตาอาการค่อนข้างรุนแรง แม้จะป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่เสียชีวิตมาจากโควิด แต่โอมิครอนอาการรุนแรงน้อยลง บางคนไม่ค่อยมีอาการ บางคนเจ็บป่วยโรคเรื้อรังอาการหนักแล้วบังเอิญติดโควิด หรือก่อนเสียชีวิตอาจตรวจพบโควิด

จึงต้องวินิจฉัยแยกโรคว่า สาเหตุการเสียชีวิตจริงเกิดจากโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ หรือมาจากโควิด ถ้ามาจากโรคเรื้อรังบังเอิญติดโควิดก็คาดว่าเสียชีวิตจากโรคที่เป็นอยู่และติดเชื้อโควิด ซึ่งขณะนี้รายงานยอดเสียชีวิตจากผู้ป่วยติดเชื้อ มีอาการปอดอักเสบจากโควิด และเสียชีวิตเป็นหลัก

“การปรับการรายงานเสียชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ติดเชื้อและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งการแยกผู้เสียชีวิตจากโรคร่วมติดเชื้อโควิด ออกจากผู้ติดเชื้อโควิด ปอดอักเสบจากโควิด และเสียชีวิตจากโควิด เพราะการรักษาต่างกัน การแบ่งแยกกลุ่มจะช่วยวางมาตรการการรักษาในอนาคตได้ เพื่อลดการเสียชีวิตทั้งสองกลุ่ม

เช่น กลุ่มโรคร่วมเข้ามารักษาแต่ตรวจเจอโควิด มีอาการของโรคร่วมก็ดูแลแบบหนึ่ง เน้นโรคร่วมเป็นหลัก ถ้าโฟกัสรักษาอาการโควิดที่ยังไม่หนักก่อน อาจทำให้โรคร่วมหนักขึ้นเร็ว หรือกลุ่มโรคร่วมแต่อาการมาจากติดเชื้อโควิด ปอดอักเสบ อาการโรคร่วมมากขึ้น ก็ต้องศึกษาเก็บข้อมูลมากขึ้น ให้โรคร่วมไม่รุนแรงมากขึ้น ติดเชื้อโควิดรักษาต่อได้ด้วย ลักษณะใช้ยาจะแตกต่างกัน เป็นต้น” นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุของทั้งกลุ่มอายุ 60-69 ปี และอายุ 70 ปีขึ้นไป ถือว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้น การเสียชีวิตจากโควิดก็เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งมาจากโควิดทำให้เพิ่มขึ้น ย้ำว่าโอมิครอนอาการไม่เยอะหรือไม่มีอาการ แต่ถ้าไม่ฉีดวัคซีน โอกาสป่วยหนักรุนแรงและทำให้เสียชีวิตยังสูง

โดยคนฉีด 2 เข็มลดการเสียชีวิตจากคนไม่ฉีดวัคซีน 5 เท่า เข็มกระตุ้นขึ้นไปลดเสียชีวิต 31 เท่า ต้องช่วยกันพาพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปรับวัคซีน ซึ่งอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็มสามเพียง 41.5% เท่านั้น ความครอบคลุมที่จะลดป่วยหนักเป็นวงกว้างได้ดี คือ 60% ขึ้นไปในเข็มกระตุ้น ซึ่งเหลือ 4-5 ล้านคนที่ต้องเร่งฉีดเพิ่มภูมิคุ้มกัน

ส่วนอายุ 5-11 ปี ให้พาบุตรหลานฉีดก่อนเปิดเทอม โรงเรียนไหนวางแผนจะฉีดช่วงเปิดเทอมให้รีบดำเนินการ ซึ่งขณะนี้เข็มแรกฉีด 53.2% เข็มสอง 12.8% เข็มหนึ่งยังต้องฉีดอีกเกือบ 2 ล้านคน ส่วนอัตราครองเตียงสีเหลืองและสีแดงอยู่เกณฑ์ดี 23% ทั้งประเทศ เหลือเตียงว่างเยอะ แต่เตียงว่างไม่ได้สำคัญมากเท่าฉีดวีคซีนเยอะ การฉีดวัคซีนเยอะป้องกันไม่ให้ป่วยหนักและเข้า รพ.ได้ ก็จะใช้เตียงนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ มากขึ้น

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ติดเชื้อยังเป็นไปตามคาดการณ์เส้นสีเขียว น่าจะลดลงต่อเนื่องได้ ส่วนปอดอักเสบเริ่มลดลงเช่นกัน อยู่ระหว่างเส้นคาดการณ์สีเขียวและสีเหลือง คิดว่าน่าจะสอดคล้องกันอยู่ ใส่ท่อช่วยหายใจตัวเลขยังทรงตัวต้องติดตามสถานการณ์สัปดาห์นี้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยอดติดเชื้อและปอดอักเสบลดลง จะส่งผลใส่ท่อช่วยหายใจลดลงหรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยใส่ท่อใช้เวลารักษานาน หลายคนยังนอน รพ.อยู่ ยังไม่สามารถออกจาก รพ.หรือนำท่อออกได้ ก็ต้องช้าไปอีกสักระยะ ต้องติดตามในอีก 2-4 สัปดาห์

ส่วนเสียชีวิตมีการปรับระบบรายงานเพื่อสอดคล้องในช่วงขาลง จากระยะคงตัวไปสู่ระยะลดลง ต้องปรับให้ชัดขึ้น รายงานเฉพาะเสียชีวิตกรณีติดเชื้อปอดอักเสบจากโควิด เพื่อให้เห็นสถานการณ์ชัดขึ้น นำไปวิเคราะห์สถานการณ์และวางมาตรการอย่างชัดเจนมากขึ้น

“ภาพรวมการติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง แต่บางจังหวัดตัวเลขยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน ต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง จังหวัดส่วนใหญ่ 40 กว่าจังหวัด แนวโน้มติดเชื้อลดลงเริ่มทรงตัว บางจังหวัดเริ่มเข้าระยะลดลงแล้ว เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของไทย ที่จังหวัดส่วนใหญ่จะเริ่มเข้าระยะลดลง โดยทุกจังหวัดช่วงขาลงต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมเข้าระยะโรคประจำถิ่น

เพื่อมั่นใจว่าหากมีเชื้อกลายพันธุ์ที่ระบาดง่ายรุนแรงมากขึ้น จะรับมือได้ ศักยภาพเตียง ยา เวชภัณฑ์ หมอมีเพียงพอให้รักษาตามมาตรฐาน มีมาตรการป้องกันโรคสถานที่ต่างๆ และต้องอาศัยความร่วมมือทุกสถานประกอบการ หน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน มิติสังคมและเศรษฐกิจ ดำเนินการตามมาตรการ 2U และ 3 พ” นพ.จักรรัฐกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน