โควิด : สธ.จ่อปรับลดระดับเตือนภัย “โควิด” เหลือระดับ 2 ปรับระบบรายงานเฉพาะผู้ป่วย ที่ต้องเข้ารพ. และไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ โควิด-19 ว่าสถานการณ์ โควิด ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 531 ล้านคน เสียชีวิต 6.31 ล้านคน หลายประเทศกลับมาระบาดใหม่หลักหมื่นราย ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนเกาหลีเหนือก็เริ่มระบาดวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้บางประเทศเริ่มปรับระบบรายงานจากรายวันมาเป็นรายสัปดาห์หรือเฉพาะเคสเสียชีวิต

สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย วันนี้รายงานป่วยปอดอักเสบ 882 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 425 ราย และผู้เสียชีวิต 26 ราย ถือว่าลดลงต่อเนื่องแต่ค่อนข้างช้าลง โดยผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไป ครึ่งหนึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงรณรงค์กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตสูงให้ฉีดวัคซีนเข็มปกติและเข็มกระตุ้นเพื่อลดผู้เสียชีวิต

ส่วนผู้ติดเชื้อยืนยันวันนี้รายงาน 3,854 ราย แต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 4 พันราย ถือว่าแนวโน้มลดลงแต่ค่อนข้างช้า กำลังรักษา 4.4 หมื่นราย โดยผู้ที่ลงทะเบียนรักษากับ 1330 สปสช. ทั้งเข้าระบบ Home Isolation และผู้ป่วยนอก OPSI สัปดาห์นี้ประมาณ 248,000 ราย ใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนคือ 252,000 ราย

“ขณะนี้ยังคงสถานะการเตือนภัย โควิด ระดับ 3 โดยเน้นกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ไม่เข้าสถานที่เสี่ยง เช่น ผับบาร์ คาราโอเกะ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ที่รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้จะพิจารณาการปรับระดับเตือนภัย โควิด เป็นระดับ 2 ส่วนจะมีจังหวัดไหนต้องรอติดตามการพิจารณาอีกครั้ง และขอความร่วมมือสวมหน้ากากและเว้นห่างเช่นเดิม”

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ดีกว่าเส้นคาดการณ์ และอยู่ในช่วงขาลงทั้งประเทศ แม้ช่วงนี้มีการเปิดภาคเรียนแต่ก็พบการระบาดในโรงเรียนไม่มากนัก โดยลักษณะเป็นการติดเชื้อในครอบครัว เพื่อน หรือเป็นคลัสเตอร์บ้างในบางโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประจำ หากติดเชื้อมีอาการให้แยกออกไปรักษา แต่ไม่ต้องปิดโรงเรียน

ภาพรวมประเทศไทยตอนนี้สถานการณ์ลดลงคล้ายหลายประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศปรับระบบรายงานเนื่องจากการติดเชื้อลดลง เข้าสู่การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ โดยเน้นติดตามผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจเป็นหลัก ดังนั้นในวันที่ 1 มิถุนายน 65 นี้ ประเทศไทยจะมีการปรับระบบรายงานให้เข้ากับสถานการณ์ที่จะผ่อนคลายมากขึ้น

ที่จะมีการเปิดผับบาร์ใน 31 จังหวัด หรือผ่อนคลายเรื่องอื่น ๆ เพื่อจะได้วิเคราะห์ข้อมูลได้ชัดเจนมากขึ้น โดยปรับจากการรายงานผู้ติดเชื้อเป็นผู้ป่วย โดยจะรายงานจำนวนผู้ป่วยรายวันแบบเฉลี่ย 7 วัน เน้นผู้ป่วยที่มีอาการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตยังรายงานทุกวันต่อเนื่อง

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า แม้เราจะปรับมาติดตามผู้ป่วยหนักหรือมีอาการเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น แต่ย้ำว่ายังต้องเข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ดูแลทั้ง 2 กลุ่มนี้ ส่วนสถานที่เสี่ยง อย่างผับบาร์ คาราโอเกะ พนักงานจะต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายโรค

ส่วนในประชาชนทั่วไปเน้นการตรวจเฉพาะกลุ่มที่อาการป่วยเท่านั้น ดังนั้นต่อไปบรรดาบริษัทสถานประกอบการจึงไม่ต้องตรวจประจำสัปดาห์แล้ว เน้นเมื่อมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ หอบเหนื่อย เป็นต้น รวมถึงยังต้องเข้มมาตรการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะผู้สูงวัยกลุ่มเสี่ยงสูง หากติดเชื้ออาจอาการหนักได้ต้องรับเข็มกระตุ้น ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยฉีดเลยก็ควรพิจารณารับวัคซีนได้แล้ว

“ถ้าผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นอาจพบการระบาด การติดเชื้อเป็นวงกว้างได้อีกพอสมควร ดังนั้น กลุ่มเสี่ยง 608 ต้องเน้นฉีดวัคซีนทุกเข็มอย่างต่อเนื่อง ส่วน ศบค.ออกข้อกำหนดให้เปิดผับบาร์ถึงเที่ยงคืน เริ่มวันที่ 1 มิถุนายน นี้ พนักงานต้องฉีดกระตุ้นและตรวจ ATK ประจำสัปดาห์ จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยงและการระบายอากาศ” นพ.จักรรัฐ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีการไม่ต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สถานการณ์เข้าสู่การผ่อนคลายมากขึ้น จึงเน้นผู้ป่วยเป็นหลัก โดยตั้งแต่วันที่ 1 มินายน จะรายงานจากฐานผู้ป่วย ไม่ใช่ฐานติดเชื้อ เพื่อเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังในโรคที่ความรุนแรงลดลงแล้ว ซึ่งเดิมเป็นโรคติดต่ออันตราย ดังนั้น การใช้ ATK ในกลุ่มเสี่ยงต่ำ เช่น วัยทำงาน ความจำเป็นในการตรวจก็ลดลง

ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง 608 กลุ่มที่อาจแพร่ระบาดวงกว้างได้ง่าย ต้องตรวจประจำ โดยการตรวจ ATK จะเหลือประมาณ 3 ข้อ คือ 1)ตรวจเมื่อมีอาการว่าใช่หรือไม่ 2)ตรวจสำหรับคนดูแลใกล้ชิดคนเสี่ยงสูง คือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่ไม่ได้ฉีดวีคซีนอาจติดเชื้อเสียชีวิตได้ และ 3)สถานที่และกิจกรรมที่อาจมีการรวมตัวกัน บุคคลสำคัญ

เมื่อถามต่อว่าผู้ป่วยเจอแจกจบจะไม่อยู่ในรายงานใช่หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ผู้ป่วยเข้าระบเจอแจกจบ OPSI จะอยู่ในการลงทะเบียนเข้ารับการรักษาผ่าน สปสช. ทั้งนี้การตรวจด้วย RT-PCR หรือ ATK ก็เท่ากันแล้ว เพราะไม่ได้รายงานจากฐานการติดเชื้อ เราผ่อนคลายประเทศและมาตรการ แต่ช่วงปรับระบบ 1-2 สัปดาห์แรกอาจจะติดขัดบ้างบางที่

เมื่อถามถึงการพิจารณาลดเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 2 จะทำทั้งประเทศหรือบางจังหวัด นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขอปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารก่อน ว่าจะปรับจังหวัดไหนหรือทั้งประเทศ ตอนนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล

เมื่อถามต่อว่าจะพิจารณาเรื่องปรับคำแนะนำการสวมหน้ากากหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ต้องพิจารณาแต่ต้องมีเกณฑ์กำหนด อาจไม่เกี่ยวข้องกับการลดระดับเตือนภัย เพราะหน้ากากเป็นมาตรการส่วนบุคคล ซึ่งต้องใช้ต่อเพราะลดโรคอื่นได้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน