ปลัด สธ.เผยผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. ปริมณฑล จังหวัดใหญ่ ห่วงคนมาฉีดวัคซีนน้อยลงเฉลี่ยหลักหมื่นต่อวัน ทำยอดเข็มกระตุ้น 42% ยังห่างจากเป้าหมาย เข้าสู่โรคประจำถิ่น ชี้สูงอายุ มีโรค ไม่รับวัคซีนยังเป็นกลุ่มดับ

วันที่ 22 มิ.ย. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หลังผ่อนคลายให้เปิดสถานบันเทิงและลดระดับการแจ้งเตือนภัยเป็นระดับ 2 ทั่วประเทศ สถานการณ์โควิด 19 ไม่ได้รุนแรงมากขึ้น แนวโน้มผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยอาการหนักลดลงและเริ่มทรงตัว ขณะนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ทุกภูมิภาค

“โดยเฉพาะอำเภอเมือง สาเหตุจากการสัมผัสใกล้ชิด ส่วนใหญ่มีไข้เล็กน้อย ไอ เจ็บคอ คล้ายไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับ 20 รายต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเกณฑ์”

ปลัดสธ.

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการติดเชื้อและช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนสะสม 139.3 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรก 81.8% เข็มสอง 76.2% และเข็มกระตุ้นตั้งแต่เข็ม 3 ขึ้นไป 42.3% เฉพาะกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครอบคลุม 54.7% พื้นที่ที่มีความครอบคลุมสูงสุด คือ กทม. 67.5%

” ภาพรวมถือว่ายังห่างจากเป้าหมายที่กำหนดให้มีความครอบคลุมของเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% เพื่อให้เปิดประเทศอย่างปลอดภัย สอดรับกับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น ขณะนี้ประชาชนมารับวัคซีนน้อยลง เฉลี่ยประมาณหลักหมื่นรายต่อวัน ส่วนหนึ่งยังมีความกลัววัคซีน

วัคซีน

อีกส่วนเห็นว่าผู้ติดเชื้อลดลงและอาการไม่รุนแรง คิดว่าได้วัคซีน 2 เข็มก็เพียงพอแล้ว ที่น่าห่วงคือผู้เสียชีวิตจากโควิดขณะนี้ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น จึงต้องรณรงค์ให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากขึ้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดการเสียชีวิต” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน