กรมวิทย์ เผยแนวโน้ม “โควิด” เจอสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลาน ทั้ง BN.1 BL.2 เพิ่มขึ้น 23% เป็น 43% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มติดเชื้อในประเทศ สัดส่วนเกินครึ่ง เจอเขตสุขภาพที่ 2 6 11 และ 12 ส่วน BQ.1 พบแล้ว 9 ราย XBB 13 ราย ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรง แต่อาจแพร่ ติดเชื้อง่ายขึ้น

22 พ.ย. 65 – นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์เชื้อโควิด19 ในประเทศ และสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 12-18 พฤศจิกายน 2565

ตรวจแบบ SNP/Deletion 246 ราย พบว่า สัดส่วน BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 42.9% จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วน 23.6% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศจาก 23.2% เป็น 43.9% โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 2, 6, 11 และ 12 มากกว่าครึ่งเป็นสายพันธุ์ BA.2.75

ส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัวในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลาน เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) มากกว่า 138 ราย พบสายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในอเมริกาและยุโรป 9 ราย สายพันธุ์ XBB ที่ระบาดมากในสิงคโปร์ พบ 13 ราย ทั้งนี้ ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น

“สายพันธุ์ BA.2.75 ตรวจพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อต้น พ.ค. 65 และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่ง BA.2.75 มีการกลายพันธุ์หนึ่งที่สำคัญ คือ G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่า อาจมีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด โดยประเทศไทยรายงาน BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลาย มิ.ย. 65” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรมฯ ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด ร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID สม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจมีต่อการแพร่เชื้อ ความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของมาตรการสาธารณสุข และคุณสมบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของเชื้อไวรัส

เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการออกแบบการรักษา การให้ยาต้านไวรัสหรือแอนติบอดีสังเคราะห์ อย่างไรก็ตาม มาตรการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่แออัด และล้างมือ ยังรับมือกับการระบาดได้ทุกสายพันธุ์ การฉีดเข็มกระตุ้นช่วยลดความรุนแรงของเชื้อได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน