กรมวิทย์ฯ พบสายพันธุ์ XBC หรือ เดลตาครอน รายแรกของไทย ผู้ป่วยหายดีแล้ว ไม่พบประวัติไปต่างประเทศ ส่วน BA.2.75 สัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้าน BN.1 พบเพิ่มขึ้น 4 เท่า ยังไม่รุนแรง

30 พ.ย. 65 – นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ในประเทศ และสายพันธุ์น่ากังวลจากผู้เดินทางเข้าประเทศ วันที่ 19-25 พ.ย. 2565 แบบ SNP/Deletion 299 ราย

พบว่า สัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 63.3% จากสัปดาห์ก่อนที่มี 42.9% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศจาก 23.2% เป็น 43.9% และ 58.8% ส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลาน เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) มากกว่า 468 ราย

โดยพบว่า BN.1 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน ถึง 4 เท่าตัว การเพิ่มจำนวนที่รวดเร็วของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์กลายพันธุ์มีความเป็นไปได้ของการเพิ่มจำนวนการติดเชื้อจนกระทั่งทดแทนสายพันธุ์เดิมที่กระจายอยู่ในพื้นที่

นอกจากนี้ พบสายพันธุ์ XBB.1 จำนวน 4 ราย และ BQ.1 จำนวน 7 ราย สำหรับสายพันธุ์ XBC หรือเดลตาครอนพบในไทยแล้ว 1 ราย ทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 20 พ.ย. 2565 รายงานพบสายพันธุ์ XBC จากหลายประเทศบนฐานข้อมูล GISAID 153 ราย ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น

โดยผู้ป่วย XBC รายแรกของไทยหายเป็นปกติดีแล้ว สำหรับประวัติของผู้ป่วย เนื่องจากเป็นการเก็บตัวอย่างเชื้อและนำมาตรวจเป็นรอบๆ คาดว่าเป็นการเก็บเมื่อ ต.ค.ไม่พบประวัติ เดินทางไปต่างประเทศ

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกรายสัปดาห์ พบว่า BA.5 และลูกหลาน ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลก คิดเป็น 72.1% , BA.4 และลูกหลาน ลดจากสัปดาห์ก่อนจาก 3.6% เป็น 3.0% , BA.2 และลูกหลาน คิดเป็น 9.2% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน

ส่วน BA.1 และลูกหลาน พบน้อยกว่า 1% ขณะที่ BQ.1 และลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 19.1% เป็น 23.1% และ XBB ลูกผสมของ BA.2.10.1 และ BA.2.75 พพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.0% เป็น 3.3%

“กรมวิทย์ฯ จะมีการติดตามเรื่องสายพันธุ์ต่อไป โดยคำแนะนำก็คือ แม้ไวรัสจะมีการพัฒนา แต่การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการรับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม สวมหน้ากากอนามัย มีระยะห่าง เลี่ยงสถานที่แออัด ยังช่วยป้องและลดความรุนแรงของโรค” นพ.ศุภกิจกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน