กรมควบคุมโรค ยันติด “โควิด” ไม่ได้ทำให้ติด ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้ออื่นง่ายขึ้นหรือรุนแรงขึ้น เหตุร่างกายมีภูมิตอบสนองจำเพาะต่อโรค ไม่มีข้อมูลทำให้ร่างกายแย่ลง

19 ส.ค. 66 – นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อทางเดินหายใจในประเทศไทย หลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย ว่า

ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเป็นฤดูฝน และมีหลายกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร เป็นต้น ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ปี 2566 มากกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 17 ส.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวน 97,052 ราย อัตราการป่วยในแต่ละสัปดาห์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วก็เพิ่มขึ้น 3 เท่าเช่นกัน

ส่วนอาการรุนแรงมีอยู่จำนวนหนึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ส่วนที่เสียชีวิตที่รายงานมาอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ ก.พ. จำนวน 1 ราย อายุ 39 ปี มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์ มีปัญหาโรคเกี่ยวกับตับไต

“ขณะนี้ต้องเร่งรัดการป้องกันโรค มีการปฏิบัติมาตรการป้องกันตัว คือหมั่นล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีความเสี่ยง หรือมีอาการ แต่ทางที่ดีคือ หากเริ่มมีอาการป่วยควรหยุดพักผ่อนอยู่บ้าน เพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และขอให้กลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป กลุ่มที่มีโรคประจำตัวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปีที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน” นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามว่า บางคนกังวลว่า ที่ผ่านมาไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดเยอะ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และสภาพร่างกายมีความบกพร่องหลายส่วน ทำให้เวลาติดเชื้อไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือติดเชื่ออื่นๆ มีโอกาสเจ็บป่วยแล้วอาการรุนแรงมากขึ้น นพ.โสภณ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน เพราะภูมิคุ้มของร่างกายนั้นฉลาดกว่าที่เห็น มันสามารถแยกแยะได้ มีความจำเพาะต่อเชื้อโรค เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็จะป้องกันเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ก็ป้องกันเฉพาะโควิด

แต่ก็จะมีภูมิคุ้มกันบางส่วนที่เป็นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ที่อาจจะป้องกันหลายโรคพร้อมกัน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้จะช่วยเหลือกัน คือช่วยร่างกายให้กำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าจะบอกว่าฉีดวัคซีน หรือเคยติดโควิดมาก่อนแล้วจะมีผลให้การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือเชื้ออื่นรุนแรงขึ้นนั้นก็ไม่จริง

เมื่อถามว่า การติดโควิดมาก่อนทำให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายแย่ลง แล้วจะส่งผลให้เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้วอาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ หรือเพิ่มโอกาสที่ร่างกายจะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นๆ แล้วอาการรุนแรงมากขึ้น นพ.โสภณ กล่าวว่า ไม่มีข้อมูลที่สะท้อนไปในทางนั้น เพราะความรู้ที่ชัดเจน และรับรู้ในวงกว้าง ก็ยังเป็นเรื่องความจำเพาะ ไม่ได้มีผลอะไร

แล้วอย่าลืมว่า โควิดเป็นโรคที่มีการระบาดทั่วโลก หากมีปัญหาก็มีปัญหาทั่วโลก ไม่ใช่จะมีปัญหาแค่ในประเทศไทย ซึ่งก็ยังไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ประเทศอื่นออกมาให้ข้อมูลในแนวนี้ อีกทั้งระบบภูมิคุ้มกัน เป็นความรู้สากล หากมีปัญหานี้ประเทศอื่นก็น่าจะมีการพูดคุย หรือมีความกังวลในเรื่องนี้เหมือนกัน

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีปัญหาการระบาดของโรคโควิดรุนแรงนัก เมื่อเทียบกับประเทศแถบตะวันตก หรืออเมริกา หากมีปัญหาอย่างที่ว่าก็ต้องเกิดก่อนในประเทศที่มีการระบาดมาก

เมื่อถามต่อว่า มีหลายคนที่เคยติดโควิด แล้วเกิดการติดเชื้อหวัดจึงรู้สึกว่าตัวเองมีอาการหนักกว่าเดิม แต่จริงๆ แล้ว การติดเชื้อหวัดต่างๆ แล้วอาการรุนแรงมีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงบ้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ 2-3 ปัจจัย อันแรกคือตัวผู้รับเชื้อเอง คนที่ร่างกายแข็งแรง โอกาสจะมีอาการรุนแรงก็จะน้อย คนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก กลุ่มที่มีโรคประจำตัวหลายโรค โอกาสที่จะมีอาการมากก็เยอะ

ปัจจัยที่ 2 คือเชื้อที่ระบาด ซึ่งตอนนี้ที่ระบาดในไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเยอะ คือเชื้อ H1N1 ซึ่งเป็นเชื้อที่เจอมาตั้งแต่ปี 2009 ปีนี้ก็เป็นปีที่ 14 แล้ว ซึ่งทราบกันดีว่า เป็นเชื้อที่ไม่ได้ก่อความเสียหายรุนแรงอะไร ประกอบกับปัจจัยที่ 3 คือ หากฉีดวัคซีนป้องกันก็จะทำให้ติดแล้วมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย

“เพราะประเทศไทยปลอดไข้หวัดใหญ่อยู่ 2 ปี เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด 19 แล้วคนมีการป้องกันตัวกันอย่างเข้มข้น สวมหน้ากากกันทั้งประเทศ จึงเป็นการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ไปด้วย แต่ไข้หวัดใหญ่ก็เริ่มกลับมาเมื่อปีที่แล้ว ที่เราเริ่มลดมาตรการในประเทศตามความเสี่ยงที่ลดลง แล้วปีนี้ก็มีการระบาดมากขึ้น หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ความรุนแรงไม่ได้แตกต่างไปจากอดีต” นพ.โสภณ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน