ขยายเวลาจัดหาวัคซีนโควิด มี.ค. 67 เปลี่ยน แอสตร้าฯ เป็น LAAB ส่วนวัคซีน HXP-GPOVAC อภ. ลุ้นผลทดสอบเฟสสุดท้าย ก.ย.นี้ หากผลดี ขึ้นทะเบียน อย. ผลิตออกใช้ ปลายปี’66 – ต้น ม.ค. 67

1 ก.ย. 66 – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กรณี ครม.เห็นชอบผลการพิจารณาคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) อนุมัติให้กรมควบคุมโรค ขยายเวลาการสิ้นสุดโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด19 ว่า

นอกจาก ครม.รับทราบผลการพิจารณาดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรค และ สธ.มีการดำเนินการคู่ขนานก่อนหน้านี้ ในเรื่องของการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนโควิด เพราะขณะนี้สถานการณ์โควิดไม่เหมือนแต่ก่อน ประชาชนผ่อนคลายความกังวล ไม่ค่อยมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากเท่าที่ควร จึงมีการเจรจาในการลดเข็มบูสเตอร์ และขอเปลี่ยนเป็นแอนติบอดีสำเร็จรูป (LAAB) แทน

“สำหรับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและติดเชื้อ ยังสามารถใช้ LAAB รักษาได้ เรียกว่า เป็นทั้งวัคซีนและยารักษา โดยมีราคาสูงกว่าวัคซีน จึงอยากฝากว่า โควิด19 ยังอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรมารับเข็มกระตุ้นและฉีดพร้อมๆกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดคู่กันได้” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนป้องกันโควิดในไทยจะนำมาใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะแม้จะพัฒนามาจากสายพันธุ์เดิม แต่ก็ยังได้ผลดีในการป้องกันความรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม เมื่อได้รับวัคซีนบูสเตอร์จะลดความรุนแรงได้

ซึ่งทุกวันนี้ ประเทศไทย ยังมีผู้ติดเชื้อที่ยังใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม การฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นน้อยกว่าคนทั่วไป หรือภูมิฯตกเร็วกว่า ดังนั้น วัคซีนที่ไทยพัฒนาก็จะมาใช้ตรงจุดนี้

พร้อมทั้งวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนของไทยก็ยังพัฒนารองรับสายพันธุ์ใหม่ได้ เพราะอนาคตเราไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ตอนนี้โอมิครอน อีก 6 เดือนข้างหน้าอาจเปลี่ยนแปลง การได้ขึ้นทะเบียนตัวแรกก็จะเป็นพื้นฐานในการปรับรองรับสายพันธุ์ใหม่ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนโดยคนไทยพัฒนาจะเป็นขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) หน่วยงานแรกสำเร็จก่อนหรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ใช่ เรียกว่า วัคซีน HXP-GPOVAC ของ อภ.กำลังรอผลการทดสอบระยะที่ 3 หากผลออกมาดี ก็จะนำขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ช่วงกลาง ก.ย.นี้ จากนั้นจึงจะผลิตออกมาใช้ได้หลังขึ้นทะเบียน น่าจะได้ใช้ปลายปีนี้ หรือ อาจต้น ม.ค. 2567

ส่วนวัคซีนที่คนไทยพัฒนา ยังมีอีก 2 ชนิด ได้ทำการทดสอบในมนุษย์แล้ว ได้แก่ 1. วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันกำลังรับอาสาสมัครเพื่อทดสอบเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในระยะที่ 1 วัคซีนในประเทศมีคุณภาพดีและเหมาะกับการศึกษาในมนุษย์ 2. วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และอยู่ระหว่างการเตรียมอาสาสมัครเพื่อศึกษาในระยะที่ 2 สำหรับการฉีดวัคซีนเป็นเข็มกระตุ้น

เมื่อถามว่า อภ.ผลิตวัคซีนโควิดออกมาแล้ว ในเรื่องแหล่งของงบประมาณการจัดซื้อจะเป็นอย่างไร นพ.นคร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการจัดซื้อว่าจะเป็นวิธีใด หากวิธีเฉพาะเจาะจง และยังใช้ในสภาวะพิเศษอยู่ ก็ซื้อโดยตรงจากงบประมาณ ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกำลังพิจารณาว่า จะนำเข้าแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคหรือไม่ โดยใช้งบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งก็จะเป็นขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะวัคซีนขององค์การฯ แต่วัคซีนโควิด19 ใดๆ ก็ตาม จะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีการขยายระยะเวลาการสิ้นสุดโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 สำหรับประชากรในประเทศไทยจำนวน 60 ล้านโดส (AstraZeneca) ปี พ.ศ. 2565 และโครงการจัดหาวัคซีนโควิด19 สำหรับประชากรในประเทศไทยจำนวน 30 ล้านโดส (Pfizer) พ.ศ.2565 ไปสิ้นสุดโครงการในเดือนมีนาคม 2567 จากเดิมที่สิ้นสุดโครงการ เดือนกันยายน 2566

เนื่องจากกรณีของการจัดหาวัคซีน AstraZeneca นั้นอยู่ระหว่างรอหนังสือแจ้งยืนยันผลการเจรจาในการขอเปลี่ยนแปลงรายการวัคซีนที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 19.07 ล้านโดสเป็น LAAB ส่วนโครงการจัดหาวัคซีน Pfizer นั้นส่งมอบครบแล้ว แต่อยู่ระหว่างการบริหารจัดการวัคซีนส่วนที่เหลือเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานบริหารจัดการวัคซีน Pfizer (Maroon Cap) ในพื้นที่ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน