ผู้เสียหายเอะใจ ผ่านมาเป็นปีเรื่องไม่จบ เอาหมายศาลไปเช็กถึงรู้ถูกหลอก แจ้งกองปราบตามรวบ

เกาะติดข่าว กดติดตามข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 ก.พ. 64 ที่ กองบังคับการปราบปราม พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา ผกก.4 บก.ป. พร้อมด้วยนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ ทนายเดชา ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์

ร่วมแถลงจับกุมนายรังสรรค์ เจียรละม่อม หรือเสี่ยอ็อด อายุ 59 ปี นายสุวิทย์ เจียรละม่อม อายุ 30 ปี บุตรชาย ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 343 และ 344/2564 ลงวันที่ 17 ก.พ. 2564 ตามลำดับ

ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม, ร่วมกันปลอมและใช้ซึ่งดวงตราหรือรอยตราของทบวงการเมือง ขององค์การสาธารณะ หรือของเจ้าพนักงาน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” หลังจับกุมตัวได้ที่บ้านพักแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 ก่อเหตุหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหาย อดีตตำรวจ ปัจจุบันเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ อยู่ที่จ.อุทัย และกลุ่มญาติรวม 6 คน โดยเข้ามาติดต่ออ้างว่าได้รับเงินสดจำนวน 293 ล้านบาท และทองคำแท่งหนัก 5 กิโลกรัม มาจากพรรคพวกในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถูกดำเนินคดีและถูกอายัดไว้เป็นของกลาง เนื่องจากนำเงินเข้ามาในประเทศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

แต่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้อง และกำลังจะได้รับเงินคืนอีกด้วย ติดตรงที่ว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จึงอยากขอความช่วยเหลือด้านการเงิน พร้อมข้อเสนอว่าหากเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมดก็จะแบ่งทรัพย์สินให้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์และยังแถมทองคำแท่งให้อีก 1 กิโลกรัมด้วย

พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนวิธีการของผู้ต้องหาก็คือจะใช้เอกสารที่เป็นหมายศาลที่ทำปลอมขึ้นมาแสดงให้ผู้เสียหายดู ซึ่งในหมายศาลดังกล่าวมีการระบุชื่อของ “ทนายเดชา” เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการขอคืนทรัพย์สิน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อยอมให้เงินแก่ผู้ต้องหาทั้งเงินสด และโอนเข้าบัญชี








Advertisement

ส่วนพ.ต.อ.ปทักข์ กล่าวว่า หลังจากที่กลุ่มผู้ต้องหาได้เงินไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังคงวางแผนสร้างเรื่องเพิ่มเติมเพื่อหลอกเอาเงินต่อไปเรื่อยๆ โดยจะอ้างว่า ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ มีความคืบหน้า แต่มีอุปสรรคติดขัดบางอย่าง

เช่น ค่ารถตู้ขนทองคำจากดีเอสไอ เป็นเงิน 200,000 บาท, ค่าดำเนินการของเจ้าหน้าที่ฯ, ค่าธรรมเนียม ปปง. และ สรรพากร อีกหลายอย่าง กลุ่มผู้เสียหายจึงต้องยอมจ่ายเงินให้ตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ โดยมีตั้งแต่ครั้งละหลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักแสนบาท ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 62 ถึงวันที่ 18 พ.ย. 63 รวมจำนวนกว่า 300 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท
กระทั่งปลายปี 2563 ผู้เสียหายเริ่มเอะใจ เพราะเรื่องผ่านมาร่วม 1 ปีเสียเงินเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ก็ยังไม่เสร็จสิ้นสักทีเลยนำหมายศาลที่ผู้ต้องหาทั้งสองนำมาแอบอ้าง ไปตรวจสอบก่อนพบว่าเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้นมา จึงรีบเข้าแจ้งความที่กองปราบฯ ก่อนมีการเข้าจับกุมดังกล่าว

จากการสอบสวนนายรังสรรค์ ให้การยอมรับสารภาพว่า ตนมีอาชีพขับรถสิบล้อ ส่วนนายสุวิทย์ บุตรชาย หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ก็ได้มาขายชิ้นส่วนอะไหล่รถออนไลน์ แต่เนื่องจากตนทั้งคู่ติดเล่นพนันฟุตบอล จึงนำเอกสารหมายศาลปลอมที่จ้างเพื่อนทำขึ้น มากุเรื่องก่อเหตุหลอกลวงเงินดังกล่าว จึงส่งตัวให้พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ป.ดำเนินคดีต่อไป

ด้านทนายเดชา กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่ให้ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ เพราะเอกสารหมายศาลที่ทำปลอมขึ้นมาค่อนข้างจะเหมือนจริง ทั้งโลโก้ศาลยุติธรรม รวมถึงมีการระบุชื่อของอัยการสูงสุด ชื่อของตนเอง ซึ่งเป็นทนายความ ทำให้ดูน่าเชื่อถือ

แม้กระทั่งผู้เสียหายเองที่เป็นอดีตตำรวจยังต้องหลงเชื่อ ทั้งนี้อยากฝากย้ำเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างเพื่อขอยืมเงิน หรือให้ร่วมลงทุนต่างๆ เช่น การดำเนินการในการขอรับทรัพย์สินที่ถูกจับกุม หรือถูกอายัด จากหน่วยงานของรัฐ แม้จะมีการเสนอผลตอบแทนที่สูงก็ตาม หากพบเห็นหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเอกสารของทางราชการ สามารถสอบถามไปยังหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงได้โดยตรงได้เลย

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน