ตร.ไซเบอร์ เปิดยุทธการปิด JOB -SHOP ทิพย์ ลุยจับ 14 เครือข่าย หลอกขายสินค้าและบริการผ่านโลกออนไลน์ มูลค่าความเสียหายกว่า 35 ล้านบาท

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 มี.ค. 2566 ที่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รองผบช.สอท. พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 ร่วมกันแถลงข่าวผลการปฏิบัติการตามยุทธการ ปิด JOB – SHOP ทิพย์ จับกุมขบวนการหลอกขายสินค้าและบริการผ่านโซเชียลมีเดีย Ep-1

สืบเนื่องจากปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางออนไลน์มีแนวโน้มสูงขึ้น เห็นได้จากภาพรวมการรับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายของทางบช.สอท. ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 บช.สอท. มีประชาชนเข้ามาแจ้งความที่ศูนย์รับเเจ้งความออนไลน์ของ บช.สอท. รวมกว่า 2 แสนเคส ในจำนวนนี้ เป็นเรื่องการหลอกขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด คือ 7 หมื่นเคส

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงซื้อขายสินค้าและการบริการ รวมถึงการหลอกให้ร่วมลงทุนในรูปแบบต่างๆ ลักษณะคือเมื่อจ่ายเงินแล้วกลับไม่ได้รับสินค้าหรือบริการตามที่ตกลงกันไว้ ทางบช.สอท.จึงได้นำข้อมูลที่ได้รับจากผู้เสียหายมาวิเคราะห์ โดยระบุผู้กระทำผิดได้แล้ว 35 เป้าหมายตามพฤติกรรมมูลฐานความผิด

ก่อนเปิดปฎิบัติการกวาดล้างตามยุทธการ ปิด JOB – SHOP ทิพย์ จับกุมขบวนการหลอกขายสินค้าและบริการผ่านโซเชียลมีเดีย Ep-1 จำนวนทั้งหมด 14 เป้าหมาย 53 หมายจับ ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

จากผลการปฎิบัติสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 26 คน โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นตัวการของเครือข่ายได้ทั้งหมด 9 เครือข่าย รวมทั้งได้ตรวจยึดของกลางเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิด พร้อมทั้งอายัดเงินในบัญชีธนาคารของผู้กระทำผิดและบัญชีม้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปขยายผล และจะมีการปฏิบัติการต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับ 14 เครือข่ายที่มีการออกหมายจับนั้น แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ การหลอกลวงซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค ,การหลอกลวงซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ,การหลอกลวงร่วมลงทุนธุรกิจสกุลเงินดิจิทัล และการลงทุนรูปแบบต่างๆ ,และการหลอกลวงซื้อขายบัตรกำนัล การบริการการท่องเที่ยว และรับจ้างทวงหนี้ ซึ่งมีประชาชนกว่า 500 รายตกเป็นเหยื่อ

ส่วนจำนวนความเสียหายก็มากน้อยแตกต่างกันไป มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักล้าน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 35 ล้านบาท โดยเครือข่ายที่มีความเสียหายมากที่สุด คือ เครือข่ายรับจ้างทวงหนี้กลุ่มแชร์ ซึ่งมิจฉาชีพจะอาศัยจังหวะที่ผู้เสียหายอยากได้เงินคืน เข้าไปหลอกลวงว่าจะรับจ้างทวงเงินให้ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้จริง ผู้เสียหายจึงถูกหลอกถึง 2 เด้ง

โดยขั้นตอนจากนี้ทางบช.สอท.จะเร่งดำเนินการกวาดล้างภัยออนไลน์ต่อเนื่อง รวมทั้งจะยื่นเรื่องต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเสนอให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้นเพจหรือเว็บไซต์ของกลุ่มมิจฉาชีพที่มีการหลอกลวงประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน