วงล้อเศรษฐกิจ : แบงก์เผชิญความท้าทาย

วงล้อเศรษฐกิจ : ในปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ ยังคงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะความสามารถในการประคองความสามารถในการทำกำไรในภาพรวม และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว นับเป็นแรงกดดันต่อเนื่องจากในปี 2561 แม้โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 3.2% ในปี 2561 ก็ตาม

นอกจากทิศทางการแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่น่าจะทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่องแล้ว คาดว่า ในปี 2562 จะเห็นโมเดลการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ทั้งนี้ แม้สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล (ไม่มีหลักประกัน) อาจจะเป็นสินเชื่อที่ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้นในปี 2562 แต่ก็เป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยผลกระทบบางส่วนของการปรับลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ที่มีผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมในภาพรวม

คาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมในภาพรวม จะยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากยังมีผลกระทบของรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ซึ่งอาจจะยังติดลบไปจนถึงช่วงไตรมาส 1/2562

ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องใช้ความพยายามอย่าง ต่อเนื่องในการผลักดันรายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนอื่นๆ มาชดเชย ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต รายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายประกันและกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากการให้บริการที่ปรึกษา เพื่อทำให้ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมในปี 2562 มีภาพที่ดีขึ้นกว่าปี 2561 ขณะที่การรับรู้กำไรจากเงินลงทุนในปี 2562 อาจยังขึ้นอยู่กับจังหวะที่เหมาะสมของสภาวะตลาดในภาพรวม

นอกจากนี้ การทยอยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอลในช่วงปี 2562 นั้น อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมรับมือกับโจทย์ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือ สภาวะการแข่งขันในตลาดให้บริการทางการเงินที่อาจจะเข้มข้นขึ้นจากผู้เล่นอื่นๆ อาทิ ผู้ประกอบการในกลุ่ม FinTech กลุ่ม TechFin และกลุ่ม e-commerce ที่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์ความต้องการบริการทางการเงินของผู้บริโภค ด้วยความได้เปรียบด้านต้นทุนที่อาจจะต่ำกว่าและมีความคล่องตัวมากกว่า

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน