ส่องอสังหาฯ ปีหน้า ส่อแววโตอืด ปัจจัยลบมากกว่าบวก ความเสี่ยงของตลาดอสังหาฯ เป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น และผลกระทบมาตรการ LTV

อสังหาฯ ปีหน้า ส่อแววอืด – น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสวนาในงานสัมมนาพิเศษ “ส่องอสังหาฯ 2019” ในหัวข้อ Real Estate Outlook 2019 ที่จัดโดยบริษัท แกรนด์โฮมมาร์ท จำกัด ร่วมกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจในเครือมติชน ว่า ทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 จะยังเติบโตอยู่ในส่วนของอสังหาฯ ประเภทที่อยู่อาศัย แต่อาจจะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2561 นี้ที่เติบโตได้แบบหวือหวา

โดยมีผลบวกคือทำเลใหม่ที่เกิดขึ้น มาจากโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างรวมทั้งหมด 10 สาย ทำให้เกิดหน้าดินใหม่ หรือทำเลใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาโครงการ ตลอดเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เป็นความเสี่ยงต่อตลาดอสังหาฯ เป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น และผลกระทบมาตรการควบคุมสินเชื่อ หรือกู้เพื่อซื้ออสังหาฯ (LTV) ในเกณฑ์ใหม่ อาจจะทำให้การเติบโตลดลง

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ดีของตลาดอสังหาริมทรัพย์ การเติบโตอยู่ประมาณ 5%บวกลบ ซึ่งลูกค้าตลาดคนไทยไปได้ดี และตลาดลูกค้าต่างชาติ เป็นคนจีนถึง 90% ในช่วงต้นปีดีมาก แต่ขณะนี้เริ่มแผ่วลงที่อาจจะส่งผลต่อปี 2562 ทำให้มองแนวโน้มภาพรวมอสังหาฯ ในปี 2562 หาปัจจัยบวกค่อนข้างยาก และมีเพียงเรื่องเดียว คือ ความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้า

ในขณะที่ปัจจัยลบมีหลายอย่างที่จะส่งผลทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย และจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งในปี 2561 การขยายตัวที่ดีของจีดีพีเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจอสังหาฯ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ มากหรือน้อยต้องรอดู นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบในเรื่องผลกระทบมาตรการ LTV ที่จะส่งผลกระทบกับลูกค้าคนไทยมากกว่าลูกค้าต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางการเมือง และภาษีที่ดินใหม่ที่จะมีผลในปี 2562 ที่ต้องจับตาว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอสังหาฯ หรือไม่

ด้านนายธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในหัวข้อธุรกิจบริบทใหม่โลกไร้พรมแดน ว่า ในยุคดิจิทัลที่ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นจำนวนมากได้ ซึ่งทุกธุรกิจควรจะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อสร้างสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด

และธนาคารได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจ ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการหรือวิธีการทำงานในองค์กร เพื่อสามารถเท่าทันกับเทรนด์ที่เปลี่ยนไป เพราะนอกจากความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว การแข่งขันในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะธนาคารไม่ได้แข่งกันเองแล้ว แต่ต้องแข่งกับสตาร์ตอัพด้านนวัตกรรมทางการเงิน (Fintech) ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น และคู่แข่งมีการปรับตัวที่รวดเร็ว

โดยยุทธศาสตร์ของไทยพาณิชย์ คือ เปลี่ยนที่ตัวธนาคารเอง และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถือว่าเปลี่ยนได้มาก และตามลูกค้าทันอยู่พอสมควร เห็นได้จากการสร้างSCB Easy แม่มณี เพื่อไปสู่สังคมไร้เงินสดที่ให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินผ่าน QR code ที่ร้านค้าได้ ซึ่งลูกค้าก็ตอบรับได้ดี และมีการติดตั้งในร้านค้ามากขึ้น ดังนั้นแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไป และมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่โจทย์ของธุรกิจธนาคารคือจะเอาเครื่องมือนั้นมาแก้โจทย์ลูกค้าได้อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน