‘ฉัตรชัย’ เตรียมลดดอกเบี้ยบ้าน หลังคลังหั่นต๋งเข้ากองทุนแบงก์รัฐ ยืนเป้าสินเชื่อ 2.1 แสนล้านทั้งปี พร้อมทำแผน 60 วันเร่งด่วนดูแลลูกค้าโควิด-ยื่นกู้ไร้เอกสาร

ธอส.เตรียมลดดอกบ้าน – นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นวันแรก ต่อเนื่องเป็นวาระที่ 2 ว่า ธนาคารเตรียมปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ในอัตราปัจจุบันที่ 6.150% ต่อปี หลังจากที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนก.ค. เห็นชอบแนวทางให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปรับลดการนำส่งเงินฝากเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐ (เอสเอฟไอเอฟ) ลงครึ่งหนึ่งจาก 0.25% ของยอดเงินฝาก เหลือ 0.125%

ทั้งนี้ หากมีการลดเงินนำส่ง ธนาคารก็สามารถลดดอกเบี้ยช่วยเหลือลูกค้าได้ แม้จะไม่ลดดอกเบี้ยแรงเท่ากับธนาคารพาณิชย์ ที่ลดเงินนำส่งลงจาก 0.46% เหลือ 0.23% แต่ก็ช่วยให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าเดิม และป้องกันการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้าไปยังธนาคารอื่นได้

สำหรับการปล่อยสินเชื่อในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้รวม 82,516 ล้านบาท สูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดสินเชื่อคงค้างที่ 1.246 ล้านล้านบาท แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะส่งผลกระทบต่อการขอสินเชื่อ ก็มั่นใจว่าจะยังปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปีได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 2.1 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ก็เตรียมเสนอที่ประชุมธนาคาร และกระทรวงการคลังพิจารณาเป้าสินเชื่อใหม่ปีนี้ โดยจะตรึงไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 1.7 แสนล้านบาท

“ยอมรับว่าหากสถานการณ์ไม่คลี่คลาย เราก็ต้องมีการทำแผนการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปี ต่ำลงประมาณ 20% เหลือ 1.7 แสนล้านบาท แต่ธนาคารก็จะพยายามอย่างเต็มที่ให้สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายเดิมที่ 2.1 แสนล้านบาท”นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ภารกิจ 60 วันหลังจากรับตำแหน่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ การดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีการขอเข้าร่วม 8 มาตรการของธนาคาร ในนี้มีจำนวนกว่า 1 แสนราย ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บริการจากสาขา มาผ่านบริการทางแอพลิเคชัน จีเอชบีออล ก็จะเร่งในส่วนงานด้านเงินฝากลงแอพลิเคชันทั้งหมด นอกจากนี้ ยังเปิดให้ลูกค้าสวัสดิการ ที่เป็นฐานลูกค้าหลักปัจจุบันมีกว่า 40% ของลูกค้าทั้งหมด 1.246 ล้านล้านบาท สามารถยื่นกู้ผ่านแอพลิเคชันได้ รู้ผลภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นจึงมีการเรียกส่งเอกสารเพิ่ม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกลูกค้า

ทั้งนี้ ธนาคารจะต้องติดตามคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด ซึ่งยอมรับว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ลูกค้าไปบ้าง ซึ่งรายที่ได้รับผลกระทบก็เข้า 8 มาตรการเยียวยาของธนาคารหมดแล้วกว่า 4.1 แสนราย ยังเหลือบางรายที่ยังตกหล่น ถ้าเข้าไปตรวจสอบสาเหตุ ถ้ายังมีความสามารถชำระเงินกู้ก็ดึงเข้ามาตรการเยียวยาได้ รายไหนเข้าไม่ได้ก็จะเข้าไปดู ซึ่งขณะนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารอยู่ที่ 4.7% หรือประมาณ 58,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่ 3.9% หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกหนี้ช่วง ม.ค.-มี.ค.ก่อนมีมาตรการเยียวยา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน