น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินของบริษัทจากนี้ นอกจากขยายการลงทุนต่อเนื่องแล้ว ยังมุ่งไปที่คอนโดมิเนียมเป็นหลัก โดยอาศัยความแข็งแกร่งด้านเงินของ ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ จากประเทศญี่ปุ่น ในฐานะพันธมิตรร่วมทุนกับเสนาฯ

เฉพาะปีนี้ร่วมทุนไปแล้วทั้งหมด 15 โครงการ พร้อมกับใช้โอกาสในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มี ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมบางส่วนถอดใจ ต้องการขายโครงการ ในราคาที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับบริษัทซื้อที่ดินมาลงทุนเอง ประกอบกับยังได้ยอดขายกลับมาเร็วขึ้นด้วย

เบื้องต้นเสนาฯ ได้เข้าซื้อโครงการแล้ว 3 ทำเล มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วยรัตนาธิเบศร์, เจริญนคร และบางซื่อ-เตาปูน พร้อมเปลี่ยนชื่อภายใต้แบรนด์ใหม่ “เฟล็กซี่ (FLEXI)” แบรนด์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคนรุ่นใหม่ รวมถึงนำแนวคิด Made From Her การสร้างที่อยู่อาศัยจากการเก็บทุกรายละเอียดในการอยู่อาศัย ในระดับราคา 1.5-2.5 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดขายในปีนี้ รวมถึงยังมีอรก 3-4 โครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อเปิดขายในปี 2565 โดยมูลค่ารวมใกล้เคียง 2,000 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานขอบริษัมในปี 2564 ได้ปรับเป้ายอดขายและรายได้ลงเหลือ 7,111 และ 6,943 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค. 2564) บริษัททำยอดขายได้แล้ว 3,200 ล้านบาท ปัจจุบันยอดรับรู้รายได้จากมูลค่ายอดขายรอโอนทั้งหมด 7,052 ล้านบาท โดยสามารถรับรู้รายได้ในปีนี้ที่ 3,689 ล้านบาท

“แม้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอการเปิดตัวคอนโดมิเนียม และหันไปขยายโครงการทาวน์เฮาส์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่ใหญ่ขึ้นสำหรับรองรับการทำงานที่บ้าน หรือ เวิร์ก ฟรอม โฮม แต่ถึงอย่างไร บริษัทเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องกลับมาทำงานที่สำนักงานตามปกติ เช่นเดียวกับเสนาฯ ซึ่งปัจจุบันพนักงานเริ่มกลับมาทำงาน 100% แล้ว ดังนั้น ทำให้บริษัทยังเชื่อมั่นในตลาดคอนโดฯ ว่าตลาดยังมีความต้องการ อีกทั้งอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้รถไฟฟ้าเสมอไป แต่สำคัญคือต้องอยู่ใกล้กับแหล่งงาน”

น.ส.เกษรา กล่าวด้วยว่า ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์จากนี้จะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจไทยหลังรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังต้องใช้เวลาคือ การปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสายการบิน และท่องเที่ยวโรงแรม ซึ่งต้องรอให้ตลาดท่องเที่ยวกลับมาอย่างมีเสถียรภาพก่อน

ส่วนมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการลดค่าธรรมเนียม โอน จดจำนอง ซึ่งนอกจากต้องการให้ขยายเวลาออกไปจากสิ้นปีนี้แล้ว ยังอยากให้รัฐบาลพิจารณาขยายเพดานราคา 4-5 ล้านบาทด้วย เนื่องจากเป็นระดับราคาที่เหลือขายในตลาดมากที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน