นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2567 คาดว่าทรงตัวและมีความเสี่ยงที่จะปรับลดลงหลังจากช่วงครึ่งปีหลังปี 2566 ภาพรวมชะลอตัว แต่เมื่อดูภาพรวมทั้งปีพบว่ามีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 366,825 หน่วย มูลค่ารวม 1.05 ล้านล้านบาท โดยลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ -6.6% และ -1.7% ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่มีจำนวน 678,347 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน -2.8%

เป็นผลจากปี 2566 มีปัจจัยลบค่อนข้างมาก ทั้งการใช้มาตรการแอลทีวีควบคุมการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวม 5 ครั้ง ทำให้เกิดการชะลอตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ประกอบกับสถาบันการเงินมีการปฏิเสธสินเชื่อผู้กู้ซื้อบ้านในกลุ่มราคาต่ำ 3 ล้านบาทมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้ซื้อกลุ่มนี้มีหนี้ครัวเรือนสูง

อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ผู้ซื้อยังไม่ตัดสินใจชัดเจนและดอกเบี้ยยังไม่ลดลง การมีมาตรการภาครัฐเข้ามาช่วยในขณะนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี เช่น การให้ซอฟต์โลน และการผ่อนปรนแอลทีวี จะช่วยสร้างบรรยากาศการซื้อขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ดีขึ้น สภาพคล่องของผู้ประกอบการจะดีขึ้น การระบายสต๊อกบ้านและคอนโดฯ ก็จะดีขึ้น และสามารถผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ ในปี 2566 พบว่ามีจำนวน 14,449 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 25% และคิดเป็นสัดส่วน 13.4% ของจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมด ส่วนมูลค่าการโอนคิดเป็น 73,161 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 23.5% คิดเป็นสัดส่วน 24% ของมูลค่าการโอนทั้งหมด

สัญชาติจีนยังคงซื้อห้องชุดมากที่สุด 6,614 หน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าโอน 34,000 ล้านบาท รองมาเป็นรัสเซีย มีมูลค่าโอน 9% และสหรัฐ กับเมียนมา สัดส่วนมูลค่าการโอนใกล้เคียงที่ 4% โดยที่สัญชาติเมียนมา ซื้อคอนโดฯ มีมูลค่าสูงที่สุดเฉลี่ยที่ราคา 6.6 ล้านบาท

จากภาพรวมดังกล่าวจะเห็นได้ว่าตลาดต่างชาติยังมีความสำคัญ ในภาวะที่ภาพรวมกำลังซื้อในประเทศยังไม่ดี และคอนโดมิเนียมราคาแพงยังเหลือขายในตลาดค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเป็นจุดหนึ่งที่รัฐบาลควรมองหามาตรการส่งเสริมเพื่อกระตุ้นให้ต่างชาติตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมได้ง่ายขึ้น

“ครึ่งปีแรกที่ยังไม่มีปัจจัยบวก โดยเฉพาะทิศทางอัตราดอกเบี้ยยังทรงตัว และคาดว่าจะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในช่วงครึ่งปีหลังไปแล้ว รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะเร่งตัวในช่วงครึ่งปีหลังเช่นกัน ดังนั้นมองว่าหากภาครัฐมีแผนปฏิบัติงานเร่งรัด โดยการออกมาตรการมาสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะสร้างบรรยากาศทีดีแล้วยังหนุนการเติบโตของจีดีพีได้ด้วย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน