นายธวัช ผลความดี เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายคุมเข้มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็กที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภค และกำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จากการลงพื้นที่ตรวจผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายอย่างเข้มงวด ในเดือนตุลาคม 2558 ถึง กรกฎาคม 2559 พบมีผู้ฝ่าฝืนและกระทำความผิด พ.ร.บ. มาตรฐานฯ และได้ดำเนินการยึดอายัดเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และเหล็กแผ่นที่ไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว ปริมาณมากกว่าสามหมื่นตัน มูลค่าประมาณ 610 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้เร่งดำเนินการในเชิงรุกกับผู้ผลิต และผู้จำหน่าย โดยจัดพิธีลงนามสัตยาบันไม่ผลิตเหล็กเบา ระหว่าง สมอ. ผู้ผลิตเหล็ก และ 8 สมาคมเหล็ก เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 เพื่อควบคุมให้มีการผลิตเฉพาะเหล็กที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และจัดให้มีโครงการร้าน มอก. เพื่อควบคุมผู้จำหน่ายให้จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น ในส่วนของผู้นำเข้า สมอ. ได้เพิ่มความเข้มงวดโดยมีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์เฉพาะในการตรวจสอบเพื่อการอนุญาตเหล็กแผ่น กรณีนำเข้าเฉพาะครั้ง โดยอนุญาตให้นำเข้าได้ไม่เกิน 100 ตัน ต่อแบบขนาด (จากเดิม 1,000 ตัน) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2559

ล่าสุดได้จัดงานสัมมนาผู้ประกอบการ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 เพื่อชี้แจงกระบวนการอนุญาตของ สมอ. ยุคใหม่ และแจ้งหลักเกณฑ์การนำเข้าเฉพาะครั้ง ให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 1,300 คน ทราบ รวมทั้งในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ผู้นำเข้าต้องแจ้งการนำเหล็กจากต่างประเทศผ่านระบบ National Single Windows (NSW) เพื่อให้การควบคุมการนำเข้า และการดำเนินการตามกฎหมายรวดเร็วมากขึ้น

สำหรับกรณีการนำเข้าเหล็กแผ่นที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากซาอุดีอาระเบีย ที่ สมอ. ยึดอายัดไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และต่อมา สมอ.ตรวจพบว่าเหล็กที่อายัดไว้สูญหายไปจากโกดังของผู้นำเข้าจำนวนหนึ่ง ประมาณ 3,538 ตัน (ร้อยละ 41 % ของจำนวนที่อายัดไว้) ปัจจุบัน สมอ. ได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว โดยผู้นำเข้ามีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 141 และ 142 มีบทลงโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรา 48 มีบทลงโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องที่นำเหล็กแผ่นที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวไปจำหน่ายหรือใช้ มีฐานความผิดตาม พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรา 55 มีบทลงโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน ห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ สมอ. ได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมาย โดยเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิด ให้มีอัตราโทษสูงขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน