นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกผู้ลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน ร่วมกับนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ในวันที่ 30 พ.ค.-17 มิ.ย. 2561 จะประกาศเชิญชวนนักลงทุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมประกวดราคาแบบนานาชาติ คาดจะสามารถคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ภายในปี 2561 ซึ่งเบื้องต้นมีนักลงทุนทั้งจากไทยและต่างประเทศ 5 กลุ่มธุรกิจให้ความสนใจลงทุน

ทั้งนี้ กำหนดการขายซองวันที่ 18 มิ.ย.-9 ก.ค. 2561, หลังจากนั้นจะเรียกประชุมชี้แจงเอกชนผู้ซื้อเอกสาร ครั้งที่ 1 วันที่ 23 ก.ค. 2561, ลงพื้นที่ดูโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และพื้นที่ตามแนวเส้นทางวันที่ 24 ก.ค. 2561, ประชุมชี้แจงเอกชนผู้ซื้อเอกสารครั้งที่ 2 วันที่ 24 ก.ย. 2561, ระหว่างนี้จะเปิดรับคำถามจากเอกชนผู้ซื้อเอกสารวันที่ 10 ก.ค.-9 ต.ค. 2561, พร้อมตอบคำถามวันที่ 10 ก.ค.-30 ต.ค. 2561, กำหนดให้เอกชนยื่นเอกสารข้อเสนอวันที่ 12 พ.ย. 2561 และจะเจรจาต่อรองประกาศผลปลายปี 2561 ก่อนลงนามสัญญาต่อไป

โครงการดังกล่าวครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร (ก.ม.) 15 สถานี ความเร็ว 250 ก.ม./ชม. มูลค่าโครงการประมาณ 2.2 แสนล้านบาท คาดระยะเวลาก่อสร้าง 4-5 ปี กำหนดอายุสัมปทานโครงการ 50 ปี ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท เมื่อครบสัญญารัฐจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด มูลค่ามากกว่า 3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ จะมีการพัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการให้ผู้โดยสารสถานีมักกะสัน ขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ เป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงแก้ปัญหาสถานีรถไฟไม่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า โดยต้องจัดที่จอดรถ รวมทั้งปรับการจราจรใหม่ทั้งหมด ผู้รับไปพัฒนาต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้ รฟท. ตามราคาตลาด ให้รัฐมีส่วนร่วมรับกำไรเมื่อโครงการมีกำไร

นอกจากนี้ จะยังพัฒนาพื้นที่สถานีศรีราชาที่มีประมาณ 100 ไร่ แต่ใช้ประโยชน์พื้นที่เพียง 75 ไร่ สำหรับเป็นสถานีเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ ที่จอดและโรงซ่อมหัวรถจักรของรฟท. ส่วนที่เหลืออีก 25 ไร่ ให้เอกชนนำไปพัฒนาและจ่ายค่าเช่าให้รฟท.ตามราคาตลาด

ด้านนายไพรินทร์ กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเป็นการเปิดพื้นที่พัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อมฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มี 5 สถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 220 ก.ม. ใช้เวลา 120 นาที แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท (Normal Line) ระยะทาง 21 ก.ม. ซึ่งจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการใช้ความเร็วที่เหมาะสมจากแผนเดิมที่จะมีการก่อสร้างความเร็ว 160 ก.ม./ชม.

ช่วงที่สอง รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 ก.ม. ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบันความเร็ว 160 ก.ม./ชม. และช่วงที่สาม รถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 ก.ม./ชม. ลาดกระบัง-ระยอง รองรับความเร็วสูงสุด 250 ก.ม./ชม. ปรับจากแผนเดิมของรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก

“อัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน-พัทยา ประมาณ 270 บาท จากมักกะสัน-สนามบินอู่ตะเภาประมาณ 330 บาท”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมประมาณ 1,785 ล้านบาท ในปี 2560 ที่ผ่านมา ขาดทุนประมาณ 280 ล้านบาท และเป็นหนี้จากการก่อสร้างประมาณ 33,000 ล้านบาท เมื่อต้องทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงนำโครงการแอร์พอร์ตลิงก์มารวมและแก้ปัญหาการขาดทุนด้วย โดยผู้ลงทุนต้องซื้อกิจการในมูลค่าที่เหมาะสม และการเปิดเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่คาดว่ามีปริมาณผู้โดยสาร 1 แสนคนต่อวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน