นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นตรวจความก้าวหน้า โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร และสถานีกลางบางซื่อ ว่า สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดงฯ มีความคืบหน้าภาพรวม 61% ล่าช้ากว่าแผนอยู่ 12% สาเหตุสำคัญเกิดจากงานระบบรถไฟฟ้าล่าช้าเพราะต้องมีการปรับระบบอาณัติสัญญาณให้เป็นระบบแบบ ETCS ซึ่งเป็นระบบสากลที่รองรับรถได้ทุกประเภท คาดว่าจะปรับระบบแล้วเสร็จมิ.ย. 2563 จากนั้นจะนำรถมาวิ่งทดสอบระบบอีก 90 วัน ตั้งเป้าเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนต.ค. 2563 ส่วนขบวนรถจำนวน 130 คัน ที่สั่งซื้อไปจะเริ่มทยอยนำเข้าปลายปี 2562 และจะครบในเดือนมิ.ย. 2563

ส่วนค่าโดยสารตลอดเส้นทางจะเก็บอัตราเฉลี่ย 32-34 บาท/เที่ยว โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นตั้งแต่ 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 45 บาท คาดว่าจะสามารถคุ้มทุนได้ในปีที่ 5 โดย สามารถทำรายได้ขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 2.72 ล้านบาท มีอัตราผู้โดยสารเฉลี่ย 8 หมื่นคน/วัน และจะเริ่มมีกำไรในปีที่ 6 เป็นต้นไป ซึ่งจะต้องผลักดันให้มียอดผู้โดยสารไม่น้อยกว่าวันละ 1.2 แสนคน สำหรับโครงการดังกล่าวโดยตลอดแนวเส้นทางโครงการจะมีสถานียกระดับทั้งสิ้น 8 สถานี ได้แก่ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต

นายวรวุฒิ กล่าวต่อถึงการบริหารการเดินรถว่า รฟท.จะเดินรถเองตามมติ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยจะขอให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เข้ามาช่วยบริหารเดินรถสายเพราะมีประสบการณ์รวมทั้ง ในอนาคตรฟท.จะต้องโอนโครงสร้างและขบวนรถของแอร์พอร์ตลิงค์ให้เอกชนที่ชนะการประมูลรถไฟฟ้าเชื่อม3 สนามบินตามเงื่อนไข

ทั้งนี้ ในการประชุมบอร์ด รฟท. วันที่ 21 มิ.ย. นี้ รฟท. จะนำเสนอขออนุมัติจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารการเดินรถ ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวการข้อเสนอต่างๆ ดังนี้ การเสนอขอรับจัดสรรเงินจากคณะรัฐมนตรีวงเงิน 3 พันล้านบาท มาใช้ในการดำเนินการจัดตั้งบริษัท, ขอเปิดสรรหาซีอีโอจากภายนอกเข้ามาช่วยบริหารการเดินรถ ตั้งเป้าที่จะให้ได้ตัวภายในเดือนก.ค.-ส.ค. นี้ และขอรับพนักงานใหม่ประมาณ 600 คน มาทำงานในบริษัทบริหารการเดินรถ ซึ่ง คนร. ได้มีการกำหนดตัวชี้วัด KPI ทุกๆ ด้านให้แก่การรถไฟฯ ในการบริหารโครงการในช่วง 5 ปีด้วย หากไม่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ตัวชี้วัด คนร. อาจจะพิจารณายกเลิกให้ รฟท. เป็นผู้บริหารการเดินรถสายสีแดง อย่างไรก็ตาม รฟท มองว่ารถไฟเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดินรถที่เป็นความหวังและจุดเปลี่ยนพลิกผันกิจการรถไฟ ของ รฟท. เพื่อยกระดับรูปแบบการให้บริการของรถไฟไทย ในอนาคต

นายวรวุฒิกล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อว่า งานก่อสร้างมีความก้าวหน้า 49.31% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย. 2562 โดยจะทยอยนำพื้นที่แปลงเอ จำนวน 32 ไร่ มูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท ออกมาประมูลก่อน โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดตั้งกรรมการตามมาตรา 35 เพื่อจัดทำทีโออาร์ คาดว่าจะเปิดประมูลและได้ตัวผู้ชนะการประมูลภายในปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้า

สำหรับภาพรวมสถานีกลางบางซื่อนั้นจะแบ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วย 1. ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถขึ้นไปยังชั้นที่ 1, ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรม และร้านค้า สามารถเชื่อมต่อกับ MRT, ชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล มี 8 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค มีทั้งหมด 10 ชานชาลา แบ่งเป็น รถไฟสายใต้ 4 ชานชาลา รถไฟสายเหนือ และสายอีสานรวม 6 ชานชาลา สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตและรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน ได้อีก 2 ชานชาลา และมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน