นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานสัมมนา China-Japan Cooperation on the Eastern Economic Corridor of Thailand ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชนจีนประจำประเทศไทยและสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จัดขึ้นที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้เห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นจุดหมายสำคัญในการลงทุนของประเทศต่างๆ นับตั้งแต่ก้าวแรกไทยได้ประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนกับเอกชนในกิจการของรัฐ (ทีโออาร์) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นมีเอกชนประมาณ 5 กลุ่มสนใจสอบถามเข้ามา แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะยื่นประมูลหรือไม่

ทั้งนี้ ส่วนตัวยังมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จีนและญี่ปุ่นที่กำลังมีความร่วมมือกันสำรวจตลาดและภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่ 3 จะให้ความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนด้วย หลังจากทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอกชนระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ในประเทศที่ 3 เมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจของภาคเอกชนจีนและญี่ปุ่นภายใต้กรอบเจรจาระดับสูงด้านเศรษฐกิจร่วมกันมาแล้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวระหว่างญี่ปุ่น-จีน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเอเชียก้าวหน้าไปอย่างมหาศาล โดยเฉพาะโครงการอีอีซีของไทยจะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการลงทุนจริง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย จีน และญี่ปุ่น ซึ่งสำนักงานเพื่อการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออกจะเป็นตัวแทนเข้าร่วม คาดจะมีแผนความร่วมมือด้านการลงทุนภายใน 2 เดือนจากนี้ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการร่วมกันของ 3 ประเทศแน่นอน

“ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีวาระการหารือ 2 เรื่องสำคัญ คือ การปรับโครงสร้างอีอีซีจากเดิมอยู่ภายใต้ ม.44 ไปสู่การทำงานภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และการรายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ที่จะมีการลงทุนทั้งสนามบิน รันเวย์ และการประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนการร่วมลงทุนกับเอกชนในกิจการของรัฐ โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ว่าจะกำหนดช่วงเวลาใดต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”

ด้านนายหนิง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐของทั้งไทย จีน และญี่ปุ่นควรเพิ่มการสื่อสารด้านนโยบายระหว่างกันมากขึ้น รวมถึงให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกแก่บริษัทของทั้ง 3 ประเทศที่มีการค้าการลงทุนระหว่างกัน และส่งเสริมให้ความร่วมมือในโครงการเฉพาะเจาะจงต่อไป อย่างการลงทุนในอีอีซีของไทยเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค รวมถึงช่วยยกระดับและคุณภาพการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม

นายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลไทยออกทีโออาร์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในอีอีซีได้มากขึ้น ซึ่งนับจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงยืนยันผลักดันและสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นในประเทศไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงการต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี จากปัจจุบันญี่ปุ่นเข้าลงทุนไทยแล้วมากกว่า 5,000 กิจการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน