นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดเวทีบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในหัวข้อ “The Eastern Economic Corridor (EEC) : Taking Off” ให้คณะผู้แทนทางการทูตและกงสุลประจำการในประเทศไทยเข้าร่วมประมาณ 55 ประเทศทั่วโลก รับทราบนโยบายการพัฒนาโครงการอีอีซีที่รัฐบาลไทยที่ไทยเตรียมพร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่โหมดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อีอีซี มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา

“ก่อนหน้านี้เรามักจะเจอคำถามจากนักลงทุนส่วนใหญ่ ว่าจะมีความต่อเนื่องโครงการนี้หรือไม่ กฎหมายอีอีซีจะผ่านหรือยัง วันนี้เราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพ.ร.บ.อีอีซีมีแล้ว และเราจะทำให้เห็นถึงความต่อเนื่องของโครงการต่างๆ ที่ขณะนี้เตรียมจะเปิดขายซองประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ฯลฯ ดังนั้นก็เชื่อว่าโครงการดีดีในอีอีซี ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศ ก็จะเดินหน้าต่อเนื่องแน่นอนและทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ ดังนั้นที่ผ่านมาถือเป็นการโหมโรงวันนี้เป็นการคิฟคอฟที่จะเดินหน้า โดยนำร่องจากทูตต่างประเทศก่อน และจะเร่งประชาสัมพันธ์มากขึ้น”นายอุตตม กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะนักธุรกิจเตรียมเดินทางไปชี้แจงข้อมูล (โรดโชว์) นักลงทุนที่อังกฤษและฝรั่งเศสช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้ โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีกำหนดการลงนามกับบริษัท แอร์บัส อินดัสตรี จำกัด เพื่อเป็นพันธมิตรดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจซ่อมบำรุงบนพื้นที่ 200 ไร่ อีกทั้งแอร์เอเชีย ยังให้ความสนใจลงทุน 70 ไร่ บริษัทจากญี่ปุ่นอีก 1 ราย คาดภาพรวมจะมีผู้พัฒนาโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 3 ราย บนพื้นที่ที่มีความพร้อมสามารถรองรับการลงทุนได้ 600 ไร่

นอกจากนี้ ยังมองเห็นโอกาสในการโรดโชว์ประเทศแถบเอเชียทั้งเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น โดยวันที่ 11 มิ.ย.นี้ ตนได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้ไปร่วมงานนิเคอิ ฟอรั่ม ที่ญี่ปุ่น จึงจะถือโอกาสนี้ชักชวนเข้ามาลงทุนในอีอีซีด้วย

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐทราบว่าทูตกังวลความไม่ต่อเนื่องของอีอีซี เนื่องจากไทยจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ดังนั้นจึงชิงตอบประเด็นนี้ก่อนที่จะถูกถาม โดยยืนยันว่าแม้ไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่โครงการอีอีซีจะเดินไปตามแผนงาน เพราะมีกฎหมายที่เขียนไว้ชัดเจน ยากที่จะเปลี่ยนแปลงและการอนุมัติต่างๆ อาจมีความล่าช้าหากไม่ใช่รัฐบาลปัจจุบัน จึงเป็นที่มาทำให้รัฐจะเร่งออกร่างเงื่อนไขขอบเขตการทำงาน (ทีโออาร์)

สำหรับความพร้อมการประมูล 6 โครงการหลักได้แก่ 1. รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2. โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3. ศูนย์ซ่อมอากาศยาน 4. ท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 5. ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 6.เมืองอัจฉริยะ(สมาร์ต ซิตี้) 7. เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล (อีอีซีดี) และ 8. เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาในส่วนของสมาร์ต ซิตี้ ที่จะดำเนินการ 2 แบบคือ เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเองแต่รัฐบาลจะร่วมส่วนหนึ่ง และ 2. รัฐบาลจะพัฒนาเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปีนี้คาดการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจะเป็นไปตามเป้าหมาย 7.2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นการลงทุนในอีอีซีไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท

ด้านนายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ต ปาร์ก (Smart Park) ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำแบบรายละเอียดโครงการ ซึ่งมีความคืบหน้าแล้วกว่า 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนก.ค. 2561 คาดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2564 โดยขณะนี้มีบริษัทเอกชนสนใจขอร่วมทุนด้านต่างๆ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท อาทิ การทำระบบทำความเย็นแบบรวมศูนย์ ระบบรถรับส่งพลังงานไฟฟ้าภายในนิคมฯ อาคารจอดรถอัตโนมัติด้วยโรโบติกส์รองรับปริมาณรถได้มากกว่า 4,000 คัน การก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุม และศูนย์การค้าบนพื้นที่ 52 ไร่ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน