นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. กระทรวงคมนาคม นำเสนอบัตรแมงมุม หรือบัตรตั๋วร่วมเดินทางได้ทุกระบบในที่ประชุมครม. โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความขอบคุณกระทรวงคมนาคมที่ทำสำเร็จ และสั่งการให้มีการขยายการมใช้บัตรแมงมุมไปในยังการเดินทางระบบอื่นๆ ด้วย

โดยวันที่ 22 มิ.ย. นี้ ตนจะเดินทางไปเป็นประธานในพิธีแจกบัตรแมงมุมที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าเตาปูน รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน จำนวนรวม 900 ใบ ซึ่งบัตรที่แจกในวันดังกล่าวจะมีความพิเศษคือมีการเติมเงินมัดจำในบัตรไว้ให้แล้ว 50 บาท ผู้โดยสารสามารถนำบัตรไปเติมเงินค่าเดินทางขั้นต่ำ 100 บาท สามารถใช้เดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวประชาชนยังสามารถนำบัตรประชาชนมาขอรับบัตรได้ที่ทุกสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงโดยจะแจกไปจนกว่าบัตรที่ผลิตจำนวน 2 แสนใบจะหมด ซึ่งบัตรในส่วนนี้จะไม่มีการเติมเงินมัดจำบัตร 50 บาทไว้ให้ สำหรับในระยะแรก บัตรแมงมุมจะสามรถนำไปใช้ ได้เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและน้ำเงินเท่านั้น และในเดือนต.ค. 2561 จะสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ และรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำร่องจำนวน 2,600 คัน

นายอาคม กล่าวว่าขณะนี้ มอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประเมินความต้องการบัตรแมงมุมด้วยว่าประชาชนมีต้องการเพิ่มหรือไม่หากต้องการเพิ่มจะต้องผลิตเพิ่มตามความต้องการ เพราะในเดือนต.ค. นี้ บัตรแมงมุมจะนำสามารถมาใช้กับรถเมล์โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ด้วยซึ่งเป็นระบบที่มีประชาชนเดินทางจำนวนมาก โดยในอนาคตบัตรแมงมุมจะมีการขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ถือบัตรมากขึ้น โดยดึง ร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น และร้านค้าอื่นๆ เข้าร่วมทำโปรโมชั่น รวมทั้งหารือธนาคารพาณิชย์เพื่อทำโปรโมชั่นการใช้จ่ายผ่านบัตรสามารถสะสมเป็นคะแนนสามารถนำมาแลกเป็นเงินคืนในบัตรโดยสารได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังเร่งรัดให้ รฟม. เร่งรัดการพัฒนา ระบบอีเอ็มวี (Euro/ Master Card และ Visa) หรือบัตรเครดิตที่สามารถชำระค่าโดยสารในระบบตั๋วร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 10-12 เดือน ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ 18 เดือน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งศึกษาพัฒนาระบบการจ่ายค่าโดยสารผ่านมือถือโดยที่ไม่ต้องใช้บัตรเพิ่มเติมด้วย

นายไพรินท์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการหารือให้ รถไฟฟ้าบีทีเอส ให้เข้าร่วมในระบบบัตรแมงมุมว่า ปัจจุบันบันบีทีเอสอยู่ระหว่างพิจารณา เพราะขณะนี้พบว่าบีทีเอสมีรายได้จากดอกเบี้ยรับจำนวนมาก จากการที่ประชาชนเติมเงินในบัตรแรบบิทซึ่งมียอดเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากจะต้องยกเลิกบัตรแรบบิท และเข้าร่วมกับบัตรระบบอื่น บีทีเอสก็อาจจะเสียดายส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตประชาชนให้ความสนใจใช้บัตรแมงมุมจำนวนมาก เชื่อว่าบีทีเอสจะเข้าร่วมระบบบัตรแมงมุม เพราะเชื่อว่าความสะดวกของผู้บริโภคที่ใช้บริการจะเป็นตัวตัดสิน รวมทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้น รฟม. ได้กำหนดในเงื่อนไขทีโออาร์ว่าประชาชนต้องสามารถนำบัตรแมงมุมมาใช้ ชำระค่าโดยสารในการเดินทางรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายได้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน