นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ยืนยันว่าที่ผ่านมา รัฐบาล ดูแลราคาสินค้าเกษตรอยากใกล้ชิด โดยจะเห็นได้จากราคาค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิที่มีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รวมถึงข้าวชนิดอื่นก็ราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่ในช่วงตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ราคาข้าวอ่อนตัวลงประกอบกับมีกระแสข่าวว่า ผู้ส่งออกข้าวหยุดรับซื้อ เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้การขนย้ายข้าวลงเรือเพื่อส่งออกล่าช้าทำให้เกิดภาระสต๊อกข้าวของผู้ประกอบการ

เพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ เริ่มสต๊อกของผู้ประกอบการค้าข้าว ตั้งแต่เมื่อวานนี้ ว่ามีการเก็บสต๊อกข้าว ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยผู้ส่งออก ที่มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ต้องมีสต๊อกข้าวอย่างน้อย 500 ตัน และ ทุนจดทะเบียนมากกว่า 20 ล้านบาทจะต้องมีสต๊อกข้าว 1,000 ตัน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบโรงสีที่เก็บสต๊อกเป็นข้าวเปลือกด้วย แม้จะไม่มีกฎหมายให้จัดเก็บสต๊อกก็ตาม เพื่อจะได้ทราบปริมาณข้าวที่อยู่ในตลาดได้อย่างแท้จริง และสามารถออกมาตรการดูแลล่วงหน้าได้

นอกจากนี้ รัฐบาล ยังได้เตรียมมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปีนี้ และฤดูกาลหน้า ปี 2561/62 ซึ่งยังคาดว่าจะยังใช้หลักการเดิม เพื่อดึงปริมาณข้าวออกในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก รวมทั้งอาจจะมีการสนับสนุนการสร้างยุ้งฉางเพิ่มเติม เพราะนโยบายดึงปริมาณข้าวออกในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่ดำเนินหารมาในหลายฤดูการผลิต ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งจะต้องนำมาตรการต่างๆ เข้าเสนอที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข.อีกครั้ง

ส่วนมันสำปะหลัง และข้าวโพดปีนี้ ก็มีราคาดีเช่นกัน ซึ่ฝเกษตรกรมีความพอใจ โดยในเดือนที่ผ่านมา มันสำปะหลัง ราคาเกิน 3 บาท ต่อกิโลกรัม แม้ตอนนี้ ราคาอ่อนตัวลงบ้าง แต่ก็เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ราคาหน้าโรงงาน ก็อ่อนตัวเพียงเล็กน้อย ประมาณ 2.80 บาทต่อกิโล

ส่วนสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดมีปัญหาด้านราคาที่อ่อนตัวลง ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดของกรมการค้าภายใน พบว่า ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากผลผลิตเกินความต้องการใช้ และตลาดส่งออกชะลอตัว รวมทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ เช่น สับปะรด สุกร เป็นผลจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกและขยายการเลี้ยง เนื่องจากราคาเมื่อช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรหันมาเพิ่มการผลิต

สำหรับกระเทียม เป็นปัญหาของผลผลิตที่ออกสู่ตลาดกระจุกตัวในช่วงสั้นๆ ประกอบกับ ไม่สามารถแข่งขันกับกระเทียมนำเข้าที่มีราคาต่ำ และกระเทียมลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนกุ้งที่เป็นสินค้าส่งออก ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของประเทศคู่แข่งสำคัญ คือ อินเดีย ที่ผลผลิตมีมากและส่งออกในราคาต่ำ ทำให้กุ้งไทยแข่งขันไม่ได้

โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการ เพื่อช่วยยกระดับราคาให้เกษตรกร เช่น เพิ่มช่องทางการจำหน่าย รวมทั้งสินค้าที่มีการลักลอบ นำเข้าก็ได้รวมกับกรมศุลกากรเข้มงวด ตั้งด่านเพื่อตรวจสอบการนำเข้าอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยไปประชุมร่วมกัน เพื่อวางแผนรับมือเกี่ยวกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้าว มัน สับปะรดและอื่นๆ เพื่อให้รู้ว่าปริมาณผลผลิตในแต่ละปีเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร พร้อมทั้งจะต้องวางแผนส่งเสริมการเพาะปลูกไม่ให้เกินความต้องการเพื่อลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ซึ่งจะมีการประชุม 3 หน่วยงานในวันที่ 28 มิถุนายนนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน