นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กนอ. มีโรงงานที่ประกอบกิจการประเภท 105 หรือโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และโรงงานที่ประกอบกิจการประเภท 106 หรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม แบ่งเป็นโรงงานที่รับคัดแยกขยะทั่วไปจำนวน 8 แห่ง และโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 32 แห่ง รวมกันจำนวน 40 แห่ง ในพื้นที่ 13 นิคมฯ ทั่วประเทศ

ที่ผ่านมา กนอ. ได้ตรวจพบโรงงานในนิคมฯ ที่มีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในพื้นที่จำนวน 1 แห่ง คือ บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ล่าสุด จึงได้ออกคำสั่งให้โรงงานดังกล่าวทำการปรับปรุงสถานประกอบการให้เป็นไปตามเงื่อนไข พร้อมขนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยยังมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากมีการกระทำผิด ส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าบางส่วนไปยังบริษัทอื่นๆ

นายอัฐพล กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาพักไว้ในนิคมฯ อย่างเด็ดขาด กนอ. จึงได้มีคำสั่งให้ ผอ.นิคมฯ ในกำกับของ กนอ. ทุกพื้นที่ดำเนินการตาม 5 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่ ให้ทุกนิคมฯ ตรวจสอบโรงงานในพื้นที่รับผิดชอบของตน พร้อมตรวจสอบใบอนุญาตว่าประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมาย และการประกอบกิจการตรงกับที่ได้ขออนุญาตไว้หรือไม่

นอกจากนี้ ให้ทุกนิคมฯ ดำเนินการตรวจโรงงานในนิคมฯ อย่างละเอียดทุก 3 เดือน หรือถ้าหากพบความน่าสงสัย ให้ ผอ.นิคมฯ เข้าตรวจสอบโรงงานนั้น ในทันที รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่ดิน และเงื่อนไขการประกอบกิจการของทุกโรงงานภายในพื้นที่รับผิดชอบ ว่าเป็นไปตามข้อบังคับของ กนอ. ตลอดจนกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้ดำเนินการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด ทั้งที่เป็นโรงงานร้าง และโรงงานเก่า ซึ่งอาจมีการลักลอบใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์

ทั้งนี้ กรณีที่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก จะต้องมีเจ้าหน้าที่ของ กนอ. ร่วมตรวจสอบด้วยทุกครั้ง ซึ่งทุกนิคมฯ จะต้องรายงานความคืบหน้าปฏิบัติการดังกล่าว เป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยเน้นการตรวจกำกับดูแลโรงงานที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง โรงงานร้าง และโรงงานเก่า และหากพบมีโรงงานที่ลักลอบกระทำผิดด้วยการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องทำรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงให้ กนอ. รับทราบ

ซึ่ง กนอ. จะพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ. กนอ. พ.ศ.2522 มาตราที่ 30 สั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนและให้บริษัทฯ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรการบังคับ พร้อมรายงานต่อ กนอ. ภายใน 7 วัน นับจากที่ได้รับหนังสือ และหลังจากนั้น กนอ.จะเข้าตรวจสอบอีกครั้ง

หากพบว่าบริษัทฯ มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ กนอ.จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. กนอ. พศ.2522 มาตรา 39 ให้โรงงานดังกล่าวปิดกิจการในนิคมฯ ทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน