คมนาคมลั่นอีก 4 ปี 2562-65 ลุยลงทุนอีก 1 ล้านล้าน ผุดรถไฟทางคู่ 9 เส้น รถไฟไฮสปีด 4 เส้นทาง รถไฟฟ้า 3 สาย มอเตอร์เวย์ 4 เส้น อัพเกรด 7 สนามบินภูมิภาค พร้อมระบุผลงาน 4 ปีแรก 2558-61 ลงทุนไปแล้ว 1 ล้านล้าน ดันจีดีพีปีนี้ กระฉูด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ว่า ขณะนี้เดินตามแผนมาเกือบครบ 4 ปีแล้วคือ 2558-61 สามารถผลักดันให้เกิดการเปิดประมูลไปแล้ว 90% คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 1.09 ล้านล้านบาท โดยช่วง 4 ปีที่ผ่านมาการลงทุนภาครัฐมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้เติบโต เพราะมีสัดส่วนมากถึง 80-90% ของการลงทุนภาพรวมทั้งประเทศส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ในช่วง ไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 4.8% โดยเม็ดเงินลงทุนจากโครงการของกระทรวงคมนาคมมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นจีดีพี เพราะมีสัดส่วนอยู่ในจีพีดีสูงถึง 30%

นายอาคมกล่าวว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดพัฒนาทางรางไปมาก สามารถเร่งรัดก่อสร้างรถไฟทางคู่ได้ 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กม. เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 เส้นทาง ระยะทาง 472 กม. คือ รถไฟความเร็วสูงไทยจีน กทม-โคราช และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และสามารถผลักดันโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครได้สำเร็จ ทำให้สามารถเปิดให้บริการเพิ่มเติม 2 สาย ระยะทาง 24 กม. คือ สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน และสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สำโรง รวมทั้งเร่งรัดการก่อสร้างเพิ่มอีก 7 สาย ระยะทางรวม 169.9 กม. คือ สีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ ,สีเขียวเข้ม แบริ่ง-สมุทรปราการ, สีเขียวเข้มช่วง หมอชิต-สะพานใหม่คูคต ,สีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ,สีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต ,สีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรีและสีเหลือ ลาดพร้าว-สำโรง

ส่วนทางถนน ได้เร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ระยะทาง 324 กม. ,พัฒนาทางหลวง 4 ช่องจราจร 1,050 กม.,เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นถนนลาดยาง 3365 กม. , สร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ และเปิดจุดพักรถบรรทุก 2 แห่งที่ จ.นครราชสีมา

ทางอากาศนั้นได้เร่งรัดโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 ดอนเมืองระยะที่ 2 และระยะที่ 3 สนามบินอู่ตะเภา ,เร่งพัฒนาสนามบินภูมิภาค อาทิ กระบี่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงราย แม่สอด และขอนแก่นเป็นต้น รวมทั้งก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่เบตง ส่วนทางน้ำนั้นได้ผลักดันแหลมฉบังเป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับกสนขนส่งภายในให้ได้สูงสุด 18 ล้านทีอียู/ปี , เปิดให้บริการเรือเฟอร์รี่ พัทยา-หัวหิน , เปิดสถานีเรือ 19 แห่งในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

นายอาคมกล่าวว่า ในช่วง 4 ปีที่เหลือ คือระหว่าง 2562-65 จะเร่งผลักดันโครงการลงทุนอีก 10% ที่เหลือ วงเงินลงทุนรวมราว 1 ล้านล้านให้เป็นไปตามเป้าหมายด้วย โดยทางราง จะเร่งรัดขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่ 9 เส้นทางที่เหลือ รวมระยะทาง 2,164 กม. เพื่อเพิ่มความเร็วเฉลี่ยในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จาก 39 กม/ชม. เป็น 60 กม./ชม. ส่วนการขนส่งคนโดยสารเพิ่มจาก 60 กม./ชม. เป็น 100 กม./ชม. และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางจาก 2.5% เป็น 5%

สำหรับ 9 เส้นทางที่จะดำเนินการคือ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. ช่วงชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. ช่วงสุราษฎร์ธานี-หสดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45กม. ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. ช่วง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. และช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355กม.

นอกจากนี้จะเพิ่มโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงอีก 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,234 กม.คือช่วงกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. , ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 350 กม. ,ช่วงกทม.-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. และพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 293 กม.

ส่วนระบบรถไฟฟ้าในกทม. จะเร่งรัดประกวดราคาอีก 3 เส้นทาง รวมระยะทาง 62.9 กม. คือ สายสีส้มตะวันออก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม สีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญไทย-มักกะวัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และจะเร่งนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติมอีก 3 โครงการ ระยะทางรวม 29.3 กม. คือ สายสีแดงอ่อน ช่วงบางขุนนท์-ศิริราช,ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์รังสิต

นายอาคมกล่าวต่อว่า ส่วนโครงข่ายถนนนั้น ตั้งเป้าหมายจะลดสัดส่วนการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลจาก 59% เหลือ 40% และจะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออก ณ ด่านชายแดน เป็น5%/ปี โดยจะเร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์อีก 4เส้นทาง ระยะทาง 324 กม. คือ สายนครปฐม-ชะอำ สายหาดใหญา-ชายแดนไทยมาเลซีย ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน และทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ช่วงกรุงเทพ-มหาชัย

นอกจากนี้ จะเร่งขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1,429 กม. เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นถนนลาดยาง 3,085 กม. ,พัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดน จ. นครพนม ส่งเสริมการค้าไทย-สปป.ลาว, พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าชายแดนและภูมิภาคเพิ่ม 12 แห่ง และก่อสร้างจุดพักรถบรรทุกอีก 34 แห่งทั่วประเทศ

นายอาคมกล่าวต่อถึงแผนพัฒนาทางอากาศว่า จะเร่งพัฒนาอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางเมืองการบินภาคตะวันออก และพัฒนาท่าอากาศยานในภูมิภาคอีก 7แห่ง คือ สุราษฎร์ธานี สกลนคร นครศรีธรรมราช ตรัง ลำปาง แพร่ หัวหิน เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ส่วนทางน้ำ นั้นจะเร่งพัฒนาท่าเรือสงขลา, ท่าเรือ บกจ.ขอนแก่น, เปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเล เช่น ภูเก็ต-พังงาน-กระบี่, พัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ ฝั่งอ่าวไทย 5 เส้นทาง คือ บางสะพานแหลมฉบัง, หัวหิน-พัทยา, สงขลา-แหลมฉบัง, สุราษฎร์ธานี-สัตหีบ และปากน้ำปราณบุรี-สัตหีบ รวมทั้งเพิ่มสถานีเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 8 แห่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน