นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทยอยปิดบัญชีการดำเนินงานของทั้ง 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และการบริหารจัดการสต๊อกยางของรัฐบาล และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ที่ขณะนี้มีสต๊อกคงเหลือ 104,550.40 ตัน เพื่อรายงานสถานโครงการต่อรัฐบาล เพราะ 2 โครงการนี้เป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดสรรงบประมาณในส่วนที่จะดำเนินการต่อไปหลังปิดบัญชีแล้ว

สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และการบริหารจัดการสต๊อกยางของรัฐบาล ที่ได้จัดซื้อมาตั้งแต่ปี 2555 ปริมาณ 207,021.10 ตัน วงเงินรวม 21,126.60 ล้านบาท ขายและส่งมอบแล้ว 131,716.93 ตัน (ขายบริษัทไหหนาน 32,142.70 ตัน และส่งมอบแล้วตามสัญญา 99,574.23 ตัน) รอส่งมอบ 24,189.07 ตัน ปัจจุบันมีสต๊อกคงเหลือ 53,097.90 ตัน และ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ได้จัดซื้อในปี 2557 ปริมาณ 147,476.03 ตัน วงเงินรวม 8,889.30 ล้านบาท ขายและส่งมอบแล้ว 62,670.9 ตัน (ขายไหหนาน 5,459.90 ตัน ส่งมอบตามสัญญาแล้ว 57,211 ตัน) ปัจจุบันมีสต๊อกคงเหลือ 51,452.50 ตัน

ทั้งนี้ จากการสำรวจสภาพของยางพาราในสต๊อกคงเหลือทั้งสองรายการรวม 104,550.40 ตัน สามารถจำแนกคุณภาพและปริมาณของยางได้เป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ ยางพาราที่อยู่ในสภาพดีประมาณ 22% , ยางพาราที่มีลักษณะ Misshape ประมาณ 8% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาลดลง 20 สตางค์ , ยางพาราที่มีสภาพเป็นราสนิมที่มีความชื้นไม่มากนักประมาณ 30% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาลดลง 98 สตางค์ และ ยางพาราที่มีสภาพเป็นราขาวที่มีความชื้นมากมีประมาณ 40% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาลดลง 4.48 บาท

สำหรับการทยอยปิดบัญชีเป็นระยะๆ ทุก 3 เดือน เพียงเพื่อรายงานสถานโครงการ แต่โครงการนี้ยังไม่สามารถปิดโครงการได้ เพราะยางในสต๊อกยังขายไม่หมด แต่ต้องคำนวณมูลค่าที่เหลือ ซึ่งยืนยันจะไม่มีการนำยางที่เหลือ 1.04 แสนตันออกมาขาย ให้เป็นการรบกวนยางพาราใหม่ของชาวสวนเด็ดขาด แต่เนื่องจากโครงการทั้ง 2 ยังมียางพาราอยู่ เป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบของครม. ต้องมีค่าเก็บรักษา และมีค่าประกันภัย จึงจำเป็นต้องรายงานสถานะให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ การปิดบัญชีจะทำเหมือนโครงการรับจำนำข้าว เมื่อสถานการณ์พร้อมค่อยนำยางพาราออกขาย

“กยท. ต้องมีการบันทึกกำไรขาดทุน ค่าใช้จ่าย เหมือนโครงการจำนำข้าว เพื่อให้รู้ว่า มูลค่ายางพาราที่เหลือมีเท่าไหร่ มีภาระดำเนินงานอย่างไร เมื่อโครงการยังปิดไม่ได้ยางพารายังเหลืออยู่เชื่อว่า ขณะนี้ 2 โครงการนี้น่าจะขาดทุนมากกว่าเก่า ส่วนยางในสต๊อกยืนยันจะไม่ทยอยขาย ให้ออกมารบกวนราคายางพาราให้ตลาดที่ขณะราคายังไม่สูงนัก”

นายลักษณ์ กล่าวว่า ได้มอบให้ นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.เกษตรฯ นำยางเสื่อมคุณภาพ ไปดำเนินการผลิตใหม่ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่าจะทำให้คุณภาพหรือปริมาณใกล้เคียงกับยางพาราที่ยังไม่เสื่อมคุณภาพหรือไม่ โดยกยท. รายงานการทำให้ยางเสื่อมคุณภาพ ยางพาราที่มีสภาพเป็นราสนิมและราขาว จะมีความชื้น จะทำให้ตกเกรดยางแผ่นรมควันมาตรฐาน โดยหากนำยางเสื่อมคุณภาพ เข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ จะทำให้ยางพารายังคงมีความชื้นอยู่ ต้องนำไปผ่านกระบวนการรีดน้ำออก แต่ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน