น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยหลังจากการเดินทางเยือนประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า ผลการจัดกิจกรรม Healthy Rice Campaign 2018 ในนครโทรอนโตและนครนิวยอร์ก ได้รับผลตอบรับจากกลุ่มผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสพบปะหารือกับผู้นำเข้า/ผู้จัดจำหน่ายข้าวรายสำคัญในสหรัฐฯ ฝั่งตะวันออก โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การค้าข้าวไทย-สหรัฐฯ รวมถึงได้สอบถามการพัฒนาข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับทราบว่า ข้าวดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จักและวางจำหน่ายในตลาดทั่วไป ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพัฒนาและขยายผลผลิตในเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ ปัจจุบันข้าวหอมมะลิไทยยังคงเป็นที่ต้องการและนิยมในตลาดสหรัฐฯ แต่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ข้าวหอมจากประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งมีราคาถูกกว่าเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับราคาเป็นหลัก อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญด้านคุณภาพมาตรฐานและความโดดเด่นของข้าวหอมมะลิไทยก็ยังคงเลือกซื้อข้าวจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

“การพัฒนาข้าวกลิ่นหอมสายพันธุ์ใหม่ของสหรัฐฯ ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตสหรัฐฯ ได้เคยพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมออกมาแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย ในตลาดสหรัฐฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จและไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มบริโภค อย่างไรก็ดี การพัฒนาข้าวหอมของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวไทยในระยะอันใกล้ แต่ก็ไม่ควรมองข้าม”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยและได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาติดตามการวางตำแหน่งข้าวหอมมะลิไทยในตลาดอเมริกา การสร้างความรับรู้ข้าวหอมมะลิไทยแบบครบวงจร รวมทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อรับมือข้าวกลิ่นหอมสายพันธุ์ใหม่จากสหรัฐฯ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกำหนดแนวทางสร้างการรับรู้และความแตกต่างระหว่างข้าวหอมมะลิไทยกับข้าวหอมชนิดอื่นๆ จากประเทศคู่แข่ง และผลักดันข้าวหอมชนิดรองของไทยที่มีราคาถูกกว่าเพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งมอบหมายให้กรมการข้าวคัดเลือกและพัฒนาข้าวหอมและข้าวพื้นนิ่มสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

สำหรับข้าวหอมมะลิไทยที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วในสหรัฐฯ ต้องรักษาตลาดไว้ให้ได้และเร่งขยายเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ โดยจะประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดอเมริกาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติสำคัญ เช่น งาน Natural Expo West การหาพันธมิตรทางการค้า และการจัดกิจกรรม In-store Promotion ร่วมกับห้างสรรพสินค้า/ภัตตาคาร/โรงแรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เห็นโอกาสใหม่ๆ ในการนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าวไทยเจาะตลาดอเมริกาเหนือซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถเติบโตได้ในอนาคต

สำหรับตัวเลขสถิติการส่งออกข้าวไทยไปสหรัฐฯ ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2558 ไทยส่งออกข้าวไปสหรัฐฯ ปริมาณ 376,118 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 457,234 ตัน ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้น 21.57% สำหรับปี 2561 (ม.ค.–มิถุนายน) ไทยส่งออกข้าวไปสหรัฐฯ ปริมาณ 261,319 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวในของปี 2560 ที่มีปริมาณส่งออก 240,104 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 8.85% โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยกว่า 90% ทั้งนี้ การส่งออกข้าวไทยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปี 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ก.ค. 2561) มีปริมาณ 6.460 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีปริมาณส่งออกอยู่ที่ 6.410 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 0.78% มีมูลค่า 3,286 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.23%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน