นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการช่วง 11 เดือนปี 2559 (ม.ค.- พ.ย.) มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 4,698 โรงงาน ลดลงช่วงเดียวกันในปี 2558 ที่มีอยู่ที่ 5,032 โรงงาน หรือ ลดลง 7.10% ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 4.14 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่อยู่ที่ 5.42 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่หายไป 1.28 แสนล้านบาท หรือลดลง 30.91%

มงคล พฤกษ์วัฒนา

มงคล พฤกษ์วัฒนา

ทั้งนี้แบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 3,927 โรงงาน ลดลง 5.27% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ โรงงาน 4,134 ขณะที่มูลค่าการลงทุน 2.54 แสนล้านบาท ลดลง 46.06% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 3.71 แสนล้านบาท ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 771 โรงงาน ลดลง 16.47% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 898 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 1.60 แสนล้านบาท ลดลง 6.87% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 1.71 แสนล้านบาท

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 6.76 หมื่นล้านบาท อุตฯอาหาร 5.24 หมื่นล้านบาท เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 2.92 หมื่นล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 2.46 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์โลหะ 2.03 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

การแจ้งเริ่มประกอบและเริ่มส่วนขยายโรงงานในช่วง 11 เดือนแรกของปี พบว่า มีจำนวน 3,924 โรงงาน ลดลง 19.80 % จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามี 4,701 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 3.92 แสนล้านบาท ลดลง 21.42 % จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.76 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีการแจ้งประกอบและเริ่มส่วนขยายโรงงานที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 11 เดือนแรก ได้แก่ การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท อุตฯอาหาร 1.76 หมื่น ล้านบาทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 1.44 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์อโลหะ 1.38 หมื่นล้านบาท เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 1.37 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

สมชาย หาญหิรัญ

สมชาย หาญหิรัญ

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากตัวเลขดังกล่าวยอมรับว่าแนวโน้มการตั้งโรงงานใหม่และขยายโรงงานอุตสาหกรรมยอดสะสมช่วง 11 เดือน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 อาจเกิดจากการลงทุนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรืออุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในปัจจุบันใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้น เนื่องจากการความรัดกุมในการออกใบอนุญาตของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบข้าง อาทิ โรงไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งในปีนี้ปริมาณความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศลดลงทำให้การขยายหรือเพิ่มโรงงานผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์มีการชะลอลงบ้างเล็กน้อย จึงส่งผลให้จำนวนมูลค่าในปีนี้ลดลงจากปีที่ผ่านมา

“มั่นใจว่าในปี 2560 แนวโน้มในการตั้งกิจการและขยายกิจการมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังกำลังซื้อภายในประเทศฟื้นจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปไก่แช่แข็ง ไก่สด อาหารทะเล ที่สามารถกลับมาส่งออกได้อีกครั้งหลังทวีปยุโรปและญี่ปุ่น อนุญาตให้ไทยส่งออกได้ ประกอบกับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นจะทำให้โรงไฟฟ้าประเภทต่างๆเกิดขึ้นตามอีกจำนวนมากอย่างแน่นอน” นายสมชาย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน