นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง 55 จังหวัด โดยให้เพิ่มสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักรวมกันไม่เกิน 4 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวในลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม และต้องแจ้งให้กระทรวงมหาดไทยรับทราบ เพราะตามมาตรการเดิมกำหนดให้นักท่องเที่ยวพักได้เฉพาะโรงแรมที่จดทะเบียนตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงทำให้คนเดินทางไปเที่ยวในเมืองรองมีจำนวนน้อย

ทั้งนี้ เมื่อได้มีการปรับปรุงมาตรการดังกล่าวแล้ว จะทำให้ผู้ที่จ่ายเงินเป็นค่าพักในเมืองรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อธิบดีกำหนด จะครอบคลุมที่พัก 3 ประเภท คือ ที่พักที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม, ที่พักแบบโฮมสเตย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันได้รับการตรวจประเมินรวม 105 แห่ง ทั่วประเทศในจำนวนนี้เป็นโฮมสเตย์ในจังหวัดท่องเที่ยวรองจำนวน 86 แห่ง และประเภทสุดท้าย คือ ที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม โดยการดำเนินมาตรการดังกล่าว จะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้ยกเว้นตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธ.ค. 2561 นี้

การดำเนินมาตรการดังกล่าวรัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 50 ล้านบาท แต่จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวสู่ชุมชน และช่วยกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น อีกทั้งยังเป้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชุมชน และทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในท้องถิ่นเพื่อมากขึ้น เป้นการส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เสริมจากการให้เช่าที่พัก เป้นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า การปรับปรุงมาตรการครั้งนี้จะทำให้ผู้ที่ทำโฮมสเตย์จำนวนมากที่ยังไม่ได้จดแจ้งการทำธุรกิจกับกรมการท่องเที่ยวได้รับประโยชน์จากมาตรการครั้งนี้ โดยโฮมสเตย์ที่ต้องการเข้ามาร่วมในมาตรการต้องไปจดแจ้งข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทยก่อน ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีทางเลือกในการเดินทางไปเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น ขณะที่เจ้าของที่พักจะได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐได้ในอนาคต ทั้งการสร้างฐานข้อมูลที่พัก และฐานภาษีที่ก้าวขึ้น รวมทั้งยังช่วยดึงกิจการที่เคยอยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น

ขณะเดียวกันที่ประชุมครม. ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดัดแปลงอาคารเพื่อใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม จากเดิม 2 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาในวันที่ 18 ส.ค.61 นี้ ให้ขยายออกไป 5 ปี หรือสิ้นสุดระยะเวลาในวัยนที่ 18 ส.ค. 2564 แทน โดยจะออกเป็นร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ ซึ่งมีการแก้ไขข้อกำหนดจากเดิมที่ให้อาคารตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไปต้องทำด้วยวัสดุทนไฟ เปลี่ยนเป็นตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปต้องทำด้วยวัสดุทนไฟ เนื่องจากปัจจุบันมีอาคารไม่น้อยกว่า 4 ชั้น ที่ไม่สามารถปรับปรุงอาคารที่เป็นวัสดุถาวรที่ทนไฟได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน