นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ร่วมกำหนดอนาคตรถทัวร์ไทย โดยเน้นให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับมาตรการต่างๆ ของรัฐที่กำหนดมาเพื่อสร้างความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในส่วนของมาตรฐานตัวรถ การใช้เทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร พร้อมทั้งตอบข้อสงสัยของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการใช้รถโดยสารสองชั้น ว่า จากกรณีผู้ประกอบการรถร่วมโดยสารสาธารณะ 2 ชั้น ทั้งที่วิ่งประจำทาง และไม่ประจำทาง (รถมาตรฐาน 30) กังวลกับนโยบายของรัฐบาลที่จะไม่ให้วิ่งให้บริการนั้น ยืนยันว่า รัฐบาลยังคงให้รถโดยสารสาธารณะ 2 ชั้นที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จำนวน 6,145 คัน และรถ 2 ชั้น ที่จดประกอบเรียบร้อย อยู่ระหว่างทดสอบการลาดเอียงจำนวน 126 คัน หากทดสอบมาตรฐานผ่าน รวมถึงรถที่อยู่ระหว่างประกอบรถตามอู่ที่มีการสำรวจไว้ประมาณ 114 คัน สามารถวิ่งให้บริการได้ตามปกติซึ่งจำนวนรถ 2 ชั้นที่กล่าวมา เป็นรถที่ได้สำรวจ ณ 6 ส.ค. 2561 แต่รถ 2 ชั้น หลังจากนี้จะไม่สามารถมาขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นรถที่ถูกต้องและมาวิ่งให้บริการได้อย่างเด็ดขาด

“รถโดยสารสองชั้นที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ผ่านการตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง มีประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจทุนประกันไม่น้อยกว่า 300,000 บาท ที่มีการติดตั้งระบบ GPS ยังสามารถวิ่งให้บริการได้ตามปกติ”

นายทนงพันธ์ สุทธิพงษ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย กล่าวว่า ขนาดของรถโดยสารมีส่วนเพียงเล็กน้อยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะทุกคันจะต้องผ่านมาตรฐานกรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ คือรถชั้นเดียว ต้องมีความสูงไม่เกิน 3.8 เมตร และรถสองชั้น ต้องสูงไม่เกิน 4 เมตร การทรงตัวในระดับ 30 องศา โดยปัญหาหลัก คือตัวบุคลากร ที่ขาดทักษะและจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนได้ลงทุนอบรมพัฒนาบุคลากรกันเอง ขณะที่ภาครัฐไม่ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานขับรถเท่าที่ควร รวมทั้งผู้ประกอบการรถโดยสารไม่น้อยกว่า 30% ยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร ทำให้ต้องจ้างพนักงานขับรถชั่วคราว (ฟรีแลนซ์) เข้ามาทำงานและขาดการตรวจสอบควบคุมคุณภาพของพนักงานขับรถอย่างเข้มงวด ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง ดังนั้นภารกิจของสมาคมฯ จึงเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานและการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรเป็นหลัก

นายทนงพันธ์ สุทธิพงษ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวว่า ธุรกิจรถทัวร์ท่องเที่ยวช่วง ไตรมาส 4 ปีนี้ (ต.ค.-พ.ย. 2561) พบว่า ยอดจองรถทัวร์เพื่อการท่องเที่ยวลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากเหตุเรือล่มภูเก็ตส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจากจีนอย่างมาก คาดว่าจะทำให้ศูนย์เสียรายได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท

“ปัจจุบันมีรถทัวร์ให้บริการประมาณ 1 หมื่นคัน โดยช่วง ส.ค. ปกติยอดจองล่วงหน้าจะเต็มตลอดช่วงฤดูการท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้ายของปี แต่ปีนี้ยอดจองล่วงหน้าลดลงชัดเจน หลังเกิดเหตุเรือล่มในจ.ภูเก็ตเมื่อเดือนก.ค.”

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ต้องการให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นด้านการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดจีน เพราะบริการรถัทวร์โดยสารถูกเหมารวมไปกับเหตุการณ์เรือล่ม นักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจในมาตรฐานของเรือและรถโดยสาร ซึ่งในส่วนของสมาคมฯ ยืนยันว่ารถทัวร์โดยสารที่อยู่ภายใต้สมาคมฯ มีความปลอดภัย และมีการตรวจเช็กมาตรฐานรถ ตามระเบียบกำหนดทุกครั้ง นอกจากนี้ พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะยังมีการอบรมมาตรฐานการขับขี่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ยังตอบรับนโยบายพัฒนามาตรฐานรถโดยสารสาธารณะ 4.0 ที่ภาครัฐผลักดัน โดยในช่วงที่ผ่านมามีการฝึกอบรมการปรับใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่องานบริการและความผลอดภัยมาโดยตลอด อีกทั้งรถโดยสารขอสมาคมฯ ยังมีการติดตั้งจีพีเอส เพื่อติดตามและตรวจสอบเส้นทางการขับขี่รถยนต์ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกผ่านระบบสื่อสารสมาร์ตโฟน กรณีเกิดเหตุขัดข้องในการขับขี่สามารถทำการช่วยเหลือได้ทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน