นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอรัปชันไทย (ซีเอสไอ) ว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในครึ่งแรกของปี 2561 อยู่ระดับ 55 ปรับตัวดีขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนในเดือนธ.ค. 2560 ที่อยู่ระดับ 52 เนื่องจากได้อานิสงส์การเอาจริงในการปราบปรามทุจริตเงินทอนวัด กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต และโครงการเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง และอื่นๆ เป็นต้น รวมถึงภาคส่วนต่างๆ มีการเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบหรือต่อต้านการทุจริตทั้งในส่วนของภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ผ่านเครือข่ายประชาชน และเผยแพร่ในโซเชี่ยลเมีเดีย เป็นต้น

“ยังพบว่าตัวเลขดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยที่ปรับตัวดีขึ้น (ตัวเลขใกล้ 100 แสดงว่าการคอร์รัปชั่นลดน้อยลงหรือสถานการณ์ดีขึ้น) ส่วนหนึ่งมาจากดัชนีการสร้างจิยธรรมและจิตสำนึกปรับอยู่ไปอยู่ระดับ 64 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่การสำรวจมาตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่ดัชนีการปราบปรามการคอร์รัปชัน อยู่ที่ 55 เพิ่มขึ้นจ่กปีก่อนที่อยู่ระดับ 53 ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชั่น อยู่ที่ 54 ปรับเพิ่มจากระดับ 53 และดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชั่น ซึ่งต่ำกว่า 50 โดยอยู่ที่ 48 เพิ่มจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 42”

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า สาเหตุการคอร์รัปชั่น ส่วนใหญ่เกิดจากความล่าช้าหรือความยุ่งยากในขั้นตอนการดำเนินงานของราชการ, กฎหมายเปิดช่องเอื้อต่อการทุจริต และความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย โดยรูปแบบที่พบในการทุจริตส่วนใหญ่เป็นการให้สินบน การทุจริตเชิงนโยบาย และการใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เปอร์เซ็นต์การจ่ายสินบนใต้โต๊ะในโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนที่เคยได้รับทราบถึงตัวเลขที่มีการจ่ายสูงสุดถึงระดับระดับ 25-35% แต่จากข้อมูลเบื้องต้นที่เก็บได้ พบว่าส่วนใหญ่มีสัดส่วนการจ่ายสินบนใต้โต๊ะที่ลดลงเหลือหรือตัวเลขสูงๆ ที่มีการจ่ายก็จะต่ำกว่า 20-25% จำนวนมากขึ้น ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และการจ่ายสินบนใต้โต๊ะของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีความรุนแรงสถานการณ์คอร์รัปชันเดือนมิ.ย. 2561 อยู่ที่ 48 แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากครั้งก่อนที่อยู่ 42 แต่ก็ยังต่ำกว่า 50 จึงสะท้อนว่าประชาชนยังคงมีความกังวลอยู่ แต่ทั้งนี้ก็หวังว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะคลี่คลายลงในปีหน้า

สำหรับประสิทธิภาพในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสำนักงานคณะกรรมการปัองกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรอิสระอื่นๆ ในระดับ 5.83 คะแนน, ความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการในการช่วยต่อต้านกาตทุจริตคอร์รัปชั่น อยู่ที่ 5.96 คะแนน, ความเชื่อมั่นต่อสมาคมของภาคธุรกิจต่างๆ กับการช่วยต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น อยู่ที่ 5.97 คะแนน, ความเชื่อมั่นต่อสื่อมวลชน อยู่ที่ 6.09 คะแนนและความเชื่อมั่นต่อภาคประชาชน อยู่ที่ 6.17 คะแนน ซึ่งทั้งหมดมีค่าดัชนีที่สูงสุดตั้งแต่มีการสำรวจมาแต่ภาคประชาชนได้รับคะแนนสูงสุด

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์ดัชนีคอร์รัปชัเนภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาคประชาชน สื่อมวลชนและคณะกรรมการปัองกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาจิ (ป.ป.ช.) รวมถึงภาคธุรกิจมีการปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมาทำให้การปรามปรามหรือการฟ้องร้องในคดีทุจริตมีความรวดเร็วมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีการสะสางคดีที่ค้างได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ยังพบว่าสถิติที่ประชาชนมาร้องเรียนกับป.ป.ช. เกี่ยวกับคดีคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากอดีตเฉลี่ยปีละ 2,000 เรื่อง เพิ่มเป็น 5,000 เรื่อง เนื่องจากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น จึงทำให้ภาพลักษณ์และค่าดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น

“หลังจากนี้หากมีเหตุการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นอะไรเกิดขึ้นอีก แล้วรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขให้เกิดความชัดเจนก็อาจทำให้ภาพลักษณ์และค่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทยลดลงได้ เพราะจากผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ยังมองว่าความรุนแรงในทุจริตคอร์รัปชั่นเท่าเดิม และค่าดัชนีครั้งนี้ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนใหญ่ได้อานิสงส์มาจากภาพการปราบปรามการทุจริตใหญ่ๆ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น ทุจริตเงินทอนวัด เป็นต้น”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน